xs
xsm
sm
md
lg

รองโฆษกแจงนโยบายรัฐ “เกษตรแปลงใหญ่” สร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อยได้จริง ห้าปีลดต้นทุน 2.4 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผลงานขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ หนึ่งในโครงการปฏิรูปภาคการเกษตร ร่วมโครงการแล้ว 4.96 แสนคน หวังปี 2580 ไทยเป็น 1 ใน 7 ผู้ส่งออกสำคัญของโลกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป

วันนี้ (11 มิ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ใกล้เคียงมีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันผลิตสินค้าเกษตร ร่วมกันบริหารจัดการ รวมถึงร่วมกันจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เชื่อมโยงตลาดได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานตัวเลข ณ วันที่ 3 พ.ค. 2565 มีจำนวนเกษตรแปลงใหญ่ 8,918 แปลง จำนวนเกษตรกรร่วมโครงการ 4.96 แสนคน คิดเป็นพื้นที่รวม 8.36 ล้านไร่

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ในปี 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งปรับแนวทางการทำงานเพื่อเร่งขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ทำการวิเคราะห์เชิงลึกต่อความต้องการของกลุ่มสมาชิกเพื่อจัดทำแผนธุรกิจและรูปแบบการทอดองค์ความรู้ เน้นด้านการลดต้นทุน การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่ Smart Farmer และการเชื่อมโยงการตลาด ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ 1) ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรวม 2.4 หมื่นล้านบาท 2) การเพิ่มผลผลิตรวม 2.2 หมื่นล้านบาท 3) เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรรวม 1.88 แสนราย และ 4)การเชื่อมโยงการตลาด เช่น ตลาดข้อตกลงล่วงหน้า ซึ่งรวมเทสโก้โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี และ เซ็นทรัล จำนวนรวม 921 แปลง ตลาดรับซื้อทั่วไป/โรงงานแปรรูป จำนวน 8 พันแปลง และตลาดออนไลน์ จำนวน 489 แปลง

สำหรับแผนระยะต่อไป จะเป็นการยกระดับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรทันสมัยและเชื่อมโยงตลาดทุกรูปแบบ ตามแนวคิดการตลาดนำการผลิต เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ใช้การตลาดสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศสำคัญของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงของโลกภายในปี 2580 และขณะนี้ยังพบว่า มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและมังคุดมารวมกลุ่มกันมากขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น สมาชิกแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอเมือง นนทบุรี ได้ดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการนำเอาองค์ความรู้การปลผูกทุเรียนแบบดั้งเดิมมาผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ และใช้เป็นแบบอย่างต่อยอดพัฒนาให้กับกลุ่มแปลงใหญ่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อไป

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลงานการขยายพื้นที่โครงการเกษตรแปลงใหญ่ ขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในการปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย เพราะจะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อยทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย การรวมกลุ่มกันจะสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกร โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การเอาเปรียบจากคู่ค้าใดๆ และมีโอกาสในการขยายตลาดไปช่องทางต่างๆได้มากขึ้น รวมถึงตลาดต่างประเทศด้วย สำหรับเกษตรที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่เกษตรอำเภอทั่วประเทศ” นางสาวรัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น