คนในเรือนจำต้องกินทุกวัน! ครม. ไฟเขียว “กรมคุก” ใช้วิธี “ก่อหนี้ผูกพันงบ” ทำสัญญาซื้อขายเครื่องบริโภคใช้เลี้ยงคนในเรือนจำ แทนการทำสัญญาก่อนปีงบประมาณใหม่ของทุกๆ ปี หรือเงินประจำงวด ที่ใช้มาตั้งปี 2525 คาดก่อหนี้ตกปีละกว่า 5 พันล้าน เผย กรมคุกเพิ่งปรับระบบประกวดราคา ตั้งแต่ปีงบ 63 ด้วยวิธี “การคัดเลือก” แทน “อี-บิ้ดดิ้ง” หลังในอดีตถูกตั้งข้อครหา “ฮั้ว”
วันนี้ (9 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนมติคณะรัฐมนตรี 7 มิ.ย. โดยอนุมัติในหลักการ ให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สามารถดำเนินการทำสัญญาซื้อขายเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้ต้องกักกัน เพื่อให้มีความเร่งด่วน ต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ประกอบกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอตลอดปีงบประมาณ และใช้วิธีการจัดทำสัญญาที่มีความเหมาะสม สะท้อนกับความเป็นจริงในทุกมิติ
ทั้งนี้ ให้ “กรมราชทัณฑ์” สามารถจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่าย เพื่อดำเนินการ ก่อนปีงบประมาณใหม่ของทุกๆ ปี และก่อนได้รับการอนุมัติเงินจัดสรรได้ เพื่อทดแทน มติ ครม. 24 ส.ค. 2525 กรณีกระทรวงมหาดไทย ขออนุมัติให้กรมราชทัณฑ์ สั่งเรือนจำ/ทัณฑสถานต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ให้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องบริโภคสำหรับเลี้ยงผู้ต้องขัง ก่อนปีงบประมาณใหม่ของทุกๆ ปีได้ และก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด
กรมราชทัณฑ์ ต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าวงเงินงบประมาณ ที่สำนักงบประมาณได้พิจารณาโอนเงินจัดสรรให้ เนื่องจากสัญญามีลักษณะของการจัดซื้อแบบเป็นประจำและต่อเนื่อง
“เพราะมีผู้ต้องขังที่อยู่ในความควบคุมดูแล ที่จะต้องเลี้ยงดูเป็นประจำทุกวันตลอดปี ซึ่งหากจัดทำสัญญาตามวงเงินที่ได้รับจัดสรร ซึ่งไม่เพียงพอตลอด ปีงบประมาณ ก็จะเกิดช่วงว่างของระยะเวลาที่จะต้องรองบประมาณจัดสรรเพิ่มเติม”
นอกจากนี้ หากทำสัญญาไม่มีความต่อเนื่อง อาจจะเกิดเหตุในการก่อการจลาจลภายในเรือนจำ ทัณฑสถานและสถานกักขัง ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงานราชการได้
โดยในหลักการนี้ กระทรวงการคลัง เห็นว่า กรมราชทัณฑ์ สามารถดำเนินการทำสัญญาซื้อขายเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้ต้องกักกัน ที่อยู่ใoความควบคุม ดูแลและต้องเลี้ยงดูเป็นประจำทุกวันตลอดปี ให้มีความต่อเนื่อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหาข้อขัดข้อง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 40 วรรคสาม
ส่วนที่ กรมราชทัณฑ์ ขอก่อหนี้ผูกพันเกินกว่า หรือนอกเหนือ ไปจากที่กำหนดไว้ ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 นั้น เห็นว่า การที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ จะขออนุมัติยกเว้นต่อ ครม. ให้กระทำได้ในกรณี ที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและต้องขออนุมัติเป็นรายกรณีเท่านั้น
“จึงไม่สามารถขอให้ ครม.อนุมัติเป็นหลักการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่า หรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้”
ด้าน สำนักงบประมาณ เห็นว่า ที่ผ่านมาของกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการตามหนังสือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ สร. 0203/14971 ลงวันที่ 24 ส.ค.2525 ที่ ครม.อนุมัติให้กรมราชทัณฑ์ ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องบริโภค สำหรับผู้ต้องขังก่อนปีงบประมาณใหม่ของทุก ๆปี ได้ และก่อนได้รับอนุมัติเงินจัดสรรอันเป็นการอนุมัติ อาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามนัยมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
“ยังคงระบุถึงหลักการดังกล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า หน่วยรับงบประมาณจะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้ ต้องได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจาก “ผู้อำนวยการ” ก่อนการจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพัน”
ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็น และเร่งด่วน ครม.จึงมีอำนาจอนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ รายจ่ายก่อนได้รับเงินจัดสรร เมื่อปีงบประมาณ 2563 กรมราชทัณฑ์ ได้เปลี่ยนแนวทางการจัดซื้อเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ผู้ต้องกักขัง และผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ 2563 ด้วยวิธีการคัดเลือก แทน อี-บิ้ดดิ้ง
“โดยกำหนดให้เรือนจำ/ทันฑสถาน/สถานกักขัง จัดซื้อข้าวสาร อาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งและเครื่องปรุง) จากองค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การตลาด ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ สถาบันเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ที่สุด โดยวิธีการคัดเลือก”
ขณะที่ งบประมาณในการจัดซื้ออาหารดิบ สำหรับ เรือนจำประมาณ 140 แห่ง พบว่าตกปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท เฉลี่ยใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้ต้องกักกัน วันละ 44-45 บาท ต่อคนต่อวัน
ส่วนปีงบ 2564 ครม. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบประมาณประจำปี 2564 จำนวน 3,810 ล้านบาท ให้กรมราชทัณฑ์ชำระหนี้คงค้างค่าวัสดุอาหาร จากฐานผู้ต้องขังจำนวน 300,000 คน.