โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ ผลักดันความร่วมมือภาคเกษตรไทย-ซาอุฯ ให้ก้าวหน้าเป็นรูปธรรม พร้อมยินดีที่สถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือทางด้านสินค้าเกษตรระหว่างไทย และซาอุดีอาระเบีย ให้มีความก้าวหน้า และมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม หลังกรมการข้าวเตรียมต่อยอดจากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบีย และเล็งเห็นถึงศักยภาพในการขยายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางด้านการเกษตร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุฯ อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ของคณะผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินหน้าขยายความร่วมมือด้านการเกษตรกับซาอุฯ โดยเน้นความร่วมมือทางด้านการเกษตร การชลประทาน การปศุสัตว์และการประมง ฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีเกษตร
นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกรมการข้าว ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2565 ได้เล็งเห็นถึงโอกาสของข้าวไทยจากสถานการณ์ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่ประเทศไทยสามารถรับมือได้น่าพอใจ เป็นประเทศที่มีความมั่นคง และได้รับผลกระทบจากความขาดแคลนอาหารน้อย พร้อมได้เล็งเห็นโอกาสการส่งออกข้าวไทย ซึ่งซาอุฯ มีความต้องการจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของไทยในการขับเคลื่อนนโยบายตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันศึกษาหาช่องทางปลูกข้าวบาสมาติ ซึ่งเคยปลูกในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งหากสามารถรองรับความต้องการส่วนนี้ได้จะเป็นโอกาสในการขยายตลาดของไทยในซาอุฯ ที่มีความต้องการข้าว 30 ล้านตัน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมการปลูกข้าวให้มากขึ้น และเสริมศักยภาพด้านการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกให้มีอำนาจต่อรองยิ่งขึ้น
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อผลสำเร็จ และขอบคุณทุกฝ่ายในการดำเนินงานทั้งการตอบรับดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์กับประเทศเป็นสำคัญ และดำเนินนโยบายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นในองค์ความรู้ ความสามารถของคนไทย และประสบการณ์ที่ไทยสืบทอดภูมิปัญญาการปลูกข้าวมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่สถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น 48.5% อยู่ที่ 1.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ซึ่งไทยยังตั้งเป้าส่งออกข้าวในปีนี้รวมกว่า 7 ล้านตัน