xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย ครม.ส่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าสภา ประกบร่าง กม.สมรสเท่าเทียม ยันให้สิทธิเต็มที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ เผย ครม. ส่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าสภา ประกบร่าง กม.สมรสเท่าเทียม ยันให้สิทธิเต็มที่ เสร็จทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ แล้วแต่สภา

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีมติให้ความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งเข้าให้สภาผู้แทนราษฎรในทันที เพื่อประกบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการแก้ไขและรับฟังความคิดเห็นทางด้านศาสนาของ ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม รวมถึงปรับแก้ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำว่า ไม่สมควรที่จะไปใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะในนั้นพูดถึงชายกับหญิง แต่ฝ่ายค้านต้องการให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ เช่น ชายกับชาย หญิงกับหญิง และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าถ้าเราจะมีระบบที่ไม่ปกตินัก จะต้องแยกเป็น พ.ร.บ.ต่างหาก เพื่อให้มีความละเอียดมากขึ้น ในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง ไม่สามารถแยกเพศได้ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ว่าเพศอะไรต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไปทั้งคู่ รวมถึงบิดา มารดา ต้องให้ความยินยอมกรณีผู้เยาว์ อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความเห็นทั้งทางศาสนาแล้ว เช่น มีศาสนาคริสต์ไม่ขัดข้องกับ พ.ร.บ.นี้ แต่ขออย่าใช้คำว่า “คู่สมรส” แต่ขอให้คำว่า “คู่ชีวิต” แทน

เมื่อถามว่า ในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะให้สิทธิแก่บุคคลสามารถตัดสินใจเรื่องการรักษาสุขภาพของคู่ชีวิตด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่ถ้าไม่มี สามารถแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการได้ ทุกอย่างแก้ปัญหาได้หมดแล้ว ซึ่งเข้าสภาใน 1-2 วันนี้ แต่จะคลอดเสร็จออกมาทันรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น แล้วแต่สภา เพราะร่างกฎหมายนี้ต้องเข้าทั้งในสภาผู้แทนฯ และชั้นวุฒิสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในร่าง พ.ร.บ.นี้ มีกำหนดเรื่องสิทธิและสวัสดิการของข้าราชการด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าว่า มีให้สิทธิทุกอย่าง ซึ่งในส่วนที่แตกต่างกัน มีรายละเอียดจำนวนมาก แต่หัวข้อใดที่เป็นสิทธิเราใส่ไว้ให้ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในบางอย่าง เช่น เรื่องแบ่งสินสมรสหลังการหย่า ก็มีหลักเกณฑ์ของเขาอยู่ และได้เขียนไว้ให้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง แต่หลักเกณฑ์อาจไม่เหมือนกับกรณีชายกับหญิง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการจดทะเบียนสมรส และจดทะเบียนหย่า

ต้องทำที่ว่าการอำเภอเหมือนกันหมด ซึ่งถ้ามีการหย่าเกิดขึ้นในส่วนนี้ ก็ต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าถ้าคนต่างเพศ เช่น ชาย-หญิง แต่งงานกัน และฝ่ายใดไปมีคู่ชีวิตใหม่ ก็ให้เป็นเหตุหย่าได้ ซึ่งประมวลแพ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นอีกฉบับหนึ่งที่รัฐบาลจะเสนอและเข้าสภา ดังนั้น รัฐบาลส่งร่างกฎหมายเป็น 2 ฉบับ ไปเจอกับร่างของฝ่ายค้านก่อนจะนำไปพิจารณาพร้อมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น