xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย ดีอีเอสเตรียมแจง กม.PDPA หลังตีความเวอร์ ชี้กันนำข้อมูลส่วนบุคคลหาประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ เผย ดีอีเอสเตรียมแจงกฎหมาย “PDPA” หลังตีความกันจนเวอร์ ระบุ วัตถุประสงค์หวังใช้กับผู้ประกอบการ ป้องกันนำข้อมูลส่วนบุคคลไปหาประโยชน์ ชี้ สื่อทำหน้าที่ได้ปกติ ปลอดภัยอยู่แล้ว

วันนี้ (1 มิ.ย.) เมื่อเวลา 17.35 น. ที่รัฐสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA ที่กำลังมีปัญหาเรื่องการตีความการละเมิดสิทธิที่หลายคนกังวลว่า เรื่องนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เตรียมชี้แจงให้สังคมได้เข้าใจว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่ที่ลือกันในขณะนี้ ว่า อย่างนั้นทำได้หรือทำไม่ได้ ถือว่าเกินความเป็นจริงไปมาก เบื้องต้นคือ หากมีความยินยอมนั้นทำได้ หรือแม้จะไม่ยินยอม แต่ถ้านำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่มีกำหนดไว้ก็เป็นไปตามนั้น วงจรปิดที่ติดอยู่ในที่สาธารณะยังถ่ายได้ ไม่ได้มีปัญหา

นายวิษณุ กล่าวว่า เจตนาของกฎหมายดังกล่าวคือ เป็นเรื่องที่เรียกร้องกันมานาน จากเดิมที่มี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงเกิดข้อมูลส่วนบุคคลแทรกเข้ามา และมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เป็นจำนวนมากโดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง อย่างเช่น นำไปใช้ทางการค้า เครดิตบูโร จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ประวัติบุคคล หรือแม้แต่ข้อมูลด้านสุขภาพของแต่ละบุคคลถูกเผยแพร่ไปจำนวนมากโดยที่เราไม่รู้ตัว และผู้ที่รู้นำไปเปิดเผยได้โดยไม่มีความผิด ซึ่งในยุคโซเชียลมีเดียข้อมูลลักษณะนี้ขายได้ เพื่อที่บริษัทสินค้าต่างๆ บริษัทเครดิตต่างๆ เขาต้องการข้อมูลเหล่านี้เพื่อจะรู้ว่าบุคคลเหล่านั้นต้องการอะไร ซื้อสินค้าแบบไหน เพื่อที่จะจู่โจมไปยังผู้ซื้อ ทำให้แต่ละวันเราได้รับโทรศัพท์เข้ามาทำนองนี้อย่างมาก เป็นเพราะข้อมูลส่วนบุคคลเราหลุดไป ซึ่งข้อมูลบางอย่างหลุดไปเราอาจไม่เดือดร้อน แต่บางอย่างอาจทำให้เราเดือดร้อน เช่น ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์ เหล่านี้จึงทำให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้น โดยมีกระทรวงดีอีเอสเป็นเจ้าของกฎหมาย ทั้งนี้ ที่มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อพุ่งไปที่บริษัทผู้ประกอบการเป็นหลักที่จะต้องนำมาใช้ ดังนั้น จึงต้องขีดเส้นให้ชัดว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมารับเรื่องร้องเรียน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ร้านค้าและร้านอาหารหลายแห่ง โพสต์บรรยากาศในร้าน แต่ต้องเบลอหน้าลูกค้าไว้ทั้งหมด นายวิษณุ กล่าวว่า “บางอย่างต้องทำอย่างนั้น แต่บางอย่างก็เวอร์ไป ทั้งที่ไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น คนก็กลัวไปก่อน” อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะออกกฎหมายได้มีการพูดคุยถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้มากไปกว่านั้น เหมือนกับสมัยก่อนที่เราจะใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เพลง เมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์เพลงมีผลใช้บังคับก็ร้องเพลงตามคาราโอเกะกันไม่ได้ ทำให้เกิดความอึดอัดอยู่พักใหญ่ แต่ตอนนี้ทุกคนชินแล้ว ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ก็เช่นกัน ต้องยอมรับว่าจะมีผลกระทบในระยะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า สำหรับผลกระทบที่มีต่อวงการสื่อมวลชนมีมากพอสมควร นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อมวลชนจะปลอดภัยเสียมากกว่า สามารถนำเสนอไปตามปกติได้ สื่อมวลชนทำไปตามปกติเถอะ


กำลังโหลดความคิดเห็น