xs
xsm
sm
md
lg

เป็นเรื่อง! ถนนซีเมนต์ผสมยางพารา เริ่มมีกลิ่น "มหาดไทย" สั่งเบรก อปท.ทั่วประเทศ ใช้เงินสะสม ผุดโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นเรื่อง! "มหาดไทย" สั่งเบรก อปท.ทั่วประเทศ ใช้เงินสะสมท้องถิ่น ผุดโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ก่อสร้างถนนซีเมนต์ผสมยางพารา ย้ำ! จนกว่า คณะกรรมการที่กระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบ "ความเสี่ยงการทุจริต" จะดำเนินการให้ได้ข้อยุติ ตามในมติ ครม. 24 ส.ค.64 ที่รับข้อเสนอ ป.ป.ช. จับตาทุจริต โครงการจัดสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณของรัฐกว่าพันล้านบาท

วันนี้ (26 พ.ค. 2565) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ขอให้จังหวัดแจ้งอปท. "ชะลอ" โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ก่อสร้างถนนพาราดินซีเมนต์ (Para soil Cement) ของ อปท.ไว้ก่อน จนกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้ได้ข้อยุติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564

สำหรับโครงการดังกล่าว เมื่อปี 2562 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เคยมีหนังสือซักซ้อม ถึงอปท.ทั่วประเทศ ต่อแนวทางการปฏิบัติการใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกตํ่า

รวมถึง แจ้งคู่มือแนะนำ และแบบแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติสำหรับงานถนนท้องถิ่น เป็นคู่มือ ถึง อปท. ให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ เป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงการทุจริตเนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นคู่มือป้องกันความเสี่ยงการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น

ต่อมา เมื่อ 24 ส.ค.2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษา โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์

โดย ครม.รับทราบข้อเสนอแนะนี้ โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย รับข้อเสนอไปพิจารณาดำเนินการ

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย เคยมีบันทึกข้อความจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจรติ (สปท.) กระทรวงมหาดไทย ถึง สถ. ภายหลังมีการประชุมประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนงาน/ขั้นตอนของโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เมื่อปี 2562

ซึ่ง มท.และ ป.ป.ท.ได้จัดทำแบบประเมินความเสี่ยงภายใต้โครงการนี้ โดยแบบประเมินดังกล่าวให้แจ้ง อปท.เพื่อเป็นแนวทางป้องกันความเสี่ยงการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งรายงานให้กระทรวงมหาดไทย รับทราบ

สำหรับโครงการนี้ในปี 2562 และ 2564 เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่ง เคยทำหนังสือถึง สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบ อบจ.ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

"กรณีมีแผนนำเงินสะสม อบจ.จำนวน 440 ล้านบาท มาใช้ในการทำโครงการถนนยางพาราผสมซีเมนต์ จำนวน 240 ล้านบาท ภายหลัง สถ. กำหนดนโยบายให้ อปท.สามารถนำเงินสะสมของอปท.ออกมาใช้จ่ายในกรณีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ โดยเฉพาะการทำถนนที่กำหนดให้ใช้ส่วนผสมของยางพารา"

ต่อมาโครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทั้งที่ สถ.ระบุว่ายังสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเรื่องยางพาราได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร อบจ.แห่งนั้นได้ประกาศยกเลิกโครงการทำถนนที่กำหนดให้ใช้ส่วนผสมของยางพารา จำนวน 53 โครงการ

โดยให้เหตุผลว่า ได้ตรวจสอบรายละเอียดของแผนงานและโครงการพบว่า มีบางรายการที่มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนหากดำเนินการทางพัสดุต่อไป อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการในด้านของการดำเนินการทางพัสดุ

และประกอบกับได้มีการเสนอญัตติต่อสภาเพื่อขอแก้ไขรายละเอียดโครงการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

โครงการนี้ เคยมีแกนนำเกษตรกรและตัวแทนผู้ประกอบการยางพารา เข้ายื่นหนังสือลับเฉพาะและด่วนที่สุดถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล (สายด่วน1111)

เนื่องจากตรวจพบข้อพิรุธและข้อสงสัยสำหรับ “โครงการจัดสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์” ทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณของรัฐกว่าพันล้านบาท

นายกฤษฎา บุญราช อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) ได้มอบหมายให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดเกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) รวบรวมข้อเท็จจริงขั้นตอน “โครงการถนนพาราซอยซีเมนต์”

โดยที่หลายหนว่ยงาน มีการหารือแนวทางการปฏิบัติงานในการดำเนินงานการสร้างถนนภายใต้โครงการ “1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร” เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติ

การหารือครั้งนั้นมีการสำรวจการกำหนดคุณลักษณะ (TOR) การกำหนดแบบมาตรฐานการก่อสร้างการควบคุมคุณภาพ และการตรวจสอบกระบวนการจัดหาน้ำยาง การพิจารณาผู้ผลิตน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม รวมถึงบริษัทผู้ผลิตน้ำยางสำหรับใช้ในงานทำถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์

ในขณะนั้น รัฐบาลได้ยืนยัน ว่าจะเดินหน้านโยบายการนำน้ำยางสดไปผสมทำถนนพาราซอยซีเมนต์ทั่วประเทศ โดยจะให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าประมูลซื้อน้ำยางสดแทนการประมูลซื้อยางแผ่นเหมือนที่ผ่านมา

และทางสมาคมผู้ค้ายางจะรับน้ำยางสดดังกล่าว ไปปั่นผสมสารเคมีเก็บไว้ โดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อส่งต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาซื้อไปทำถนนต่อไป โดยเริ่มซื้อ เมื่อ ก.ค.62.


กำลังโหลดความคิดเห็น