xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมออกไปเลือกตั้งเพื่อกรุงเทพฯ แล้วหรือยัง (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใกล้ถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้แล้ว แม้จะเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้การเลือกตั้งทั่วไปในระดับชาติ เพราะเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดนั่นเอง
ด้วยความสำคัญของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมิได้แจ้งเหตุอันควร จะต้องถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เป็นเวลา 2 ปี ได้แก่
1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
การแจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิดังกล่าวต้องแจ้งแก่นายทะเบียนท้องถิ่นเขตภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง


ทั้งนี้ เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้แก่
• มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
• เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
• เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ และไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
• เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
• มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
• ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
• มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต.กำหนด


นอกจากนี้ การเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังมีข้อบังคับหรือระเบียบเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ต่างจากการเลือกตั้งในระดับประเทศเช่นกัน
คนกรุงเทพฯ จึงควรตระหนักและใส่ใจในข้อพึงระวังทั้งหมด 11 ประการ ที่เป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ได้แก่ ห้ามมิให้:
1. ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งพยายามออกเสียงลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนน
2. ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับจาก กปน.ชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
3. ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง
4. ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
5. ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18:00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
6. ผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
7. ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างเวลา 18:00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18:00 น.ของวันเลือกตั้ง
8. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใดหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
9. ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
10. ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน
11. ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

การเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมาถึงขึ้นนี้ ถือว่าคนกรุงเทพฯ เป็นเจ้าของอำนาจโดยแท้จริง ในฐานะผู้เลือกผู้แทนหรือบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” และ “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” (ส.ก.)

กทม.ขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกรุงเทพฯ ทุกคน ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. เสียงคุณสำคัญและมีส่วนสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานคร


(บทความประชาสัมพันธ์)


กำลังโหลดความคิดเห็น