ล่าสุด ประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ตั้งระบบศูนย์กลางทางชีวภาพ หรือ BIOHUB system ซึ่งเป็นความสำเร็จ ที่สำคัญจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่กรุงเจนีวา สหพันธรัฐสวิส ในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งไทยเป็นชาติ แรกที่ร่วมลงนามในเรื่องนี้
นายอนุทิน อธิบายว่า เป็นเพราะ “ระบบของไทยมีความพร้อมและขีดความสามารถในด้านห้องปฏิบัติการของประเทศไทย ที่มีมาตรฐานระดับสากล ทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมการเพาะและส่งต่อเชื้อโรคใหม่ๆ ด้วยมาตรฐานระดับสูง เป็นทุนเดิม”
ระบบ BIOHUB ที่ WHO เพิ่งตั้งขึ้น มีที่มาจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่ง ขณะนั้น ทั่วโลกยังไม่มีระบบการเชื่อมต่อข้อมูลที่เข้มแข็ง ส่งผลให้ดาต้าต่างๆ กระจัดกระจาย อยู่กับแต่ละประเทศ และไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ไขสถานการณ์ กระทั่งเมื่อมารู้จักเจ้าเชื้อตัวนี้ การระบาดก็ลุกลามเสียแล้ว ดังนั้น WHO จึงต้องตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อรวบรวม วิเคราะห์ ศึกษาวิจัยด้านชีววิทยา ไว้สำหรับป้องกัน และแก้ไขวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่ผ่านมา WHO นานาชาติ และไทย มีการหารือกันอยู่ 2 ปี เพื่อเดินหน้าตั้งศูนย์ดังกล่าว กระทั่งเกิดเป็นรูปธรรม และได้ไทย มาเข้าร่วมเป็นชาตแรก อันที่จริง เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกระทรวงสาธารณสุข ในยุคที่มีรัฐมนตรีชื่อ “อนุทิน” มีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับ WHO ส่วนหนึ่งเพราะการที่ไทย ก็เป็นที่ตั้งของสำนักงานองค์การอนามัยโลก และ 2 คือ ตัวนายอนุทิน ไปจนถึงกระทรวงสาธารณสุขนั้น ให้ความเป็นมิตร และรับฟังข้อเสนอของ WHO มาโดยตลอด
ขณะที่ WHO ก็ชื่นชมไทยอยู่เป็นนิจ และนำเรื่องราวการควบคุมโควิด-19 ของไทย ไปเสนอแก่ชาวโลก ครั้งหนึ่ง เคยยกกองถ่ายสารคดีมาถึงประเทศไทย เพื่อบันทึกเรื่องราวของ อสม.นักรบชุดเทา เพื่อนำไปถ่ายทอดแก่สายตาชาวโลกกันมาแล้ว และทุกครั้งที่มีการประชุมระดับนานาชาติ มักจะปรากฏภาพ นายอนุทิน กับ นายเท็ดรอส (Tedros Adhanom Ghrebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ในอิริยาบถแห่งความคุ้นเคยกันดี แต่ภาพที่ติดตาชาวโลกคือ การไหว้ ที่เป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งทั้งคู่ใช้ทักทายกัน
มาที่การประชุมที่เจนีวา ทั้งคู่ผ่านการหารือกันในหลายเรื่อง อาทิ ความคืบหน้าในสำนักงานเลขาธิการ ศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ในประเทศไทย ในเดือนสิงหาคมนี้ ที่นายอนุทิน ชวนนายเท็ดรอส มาร่วมงานด้วย และเมื่อทราบว่า นายเท็ดรอส ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ สมัยที่ 2 นายอนุทิน ก็เป็นคนแรกๆ ที่เข้าไปร่วมแสดงความยินดี
ไมตรีระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย กับ WHO ยอดเยี่ยมขนาดนี้ บวกกับท่าทีที่เป็นมิตรของนายอนุทิน และประสิทธิภาพด้านการสาธารณสุขไทย จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลก ที่ไทยจะได้เป็นชาติแรก ซึ่งได้สิทธิ์ลงนามในโครงการศูนย์กลางทางชีวภาพ ที่มีองค์การอนามัยโลกเป็นแม่งาน ศูนย์แห่งนี้ มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านชีวภาพ เพื่อต่อยอดในการผลิตยา และวัคซีน การที่ไทยได้เข้าร่วม จะทำให้ไทยอยู่ในขบวนรถไฟ ด้านความความคืบหน้าเรื่องการสาธารณสุขโลก
โดยทวีตเตอร์ของ นายเท็ดรอส ปรากฏภาพและข้อความแปลเป็นไทยว่า
"จากบทเรียนโควิด-19 ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือแบ่งปันความรู้ด้านชีวภาพ BioHub ความร่วมมือนี้จะช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโรคต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และทำการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือในการรับมือวิกฤติด้านสาธารณสุข และขอบคุณ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขของไทย สำหรับความพยายามอย่างเข้มแข็งในการควบคุมโควิด-19 จนบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีน 70% และมุ่งมั่นให้เกิดความเท่าเทียมด้านวัคซีน และยินดีกับความร่วมมือในการถ่ายทอดข้อมูลเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ"
ที่สำคัญ อย่าลืมว่าก่อนจะร่วมทีม BIOHUB กับ WHO ไทยเพิ่งได้รับเลือกจากอาเซียนให้ตั้งศูนย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ทั้งหมด ล้วนสะท้อนข้อเท็จจริงว่าไทย อยู่ในฐานะของ “เต้ย” ในวงการสาธารณสุขนานาชาติ ซึ่งจะเป็น SOFT POWER ใหม่ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ให้มาลงทุนที่ประเทศไทย
นายอนุทิน เคยกล่าวไว้ว่า "วันนี้ควรโฟกัสกับปัจจุบัน ปัญหาวันนี้ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่คือการทำให้แน่ใจว่า คนไทยจะได้ทำงาน ฟื้นเศรษฐกิจกัน หลังเปิดประเทศเต็มที่ การท่องเที่ยวฟื้น เปิดโอกาสใหม่ๆในธุรกิจสุขภาพ เด็กๆจะได้ไปโรงเรียน การขนส่งคมนาคมมีประสิทธิภาพ สามารถกระจายรายได้และความเจริญไปทั่วประเทศได้"
การเดินทาง ไปถึงสหพันธรัฐสวิส ไม่ได้กลับมามือเปล่าแน่นอน เพราะการได้เป็นชาติแรก ที่เข้าร่วมโครงการ BIOHUB SYSTEM นี่คือผลประโยชน์ ที่ยิ่งใหญ่กับประเทศชาติ ทั้งในเรื่องของการสาธารณสุข และภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ
และขณะนี้ เขากำลังพากระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัง สร้างความเชื่อมั่นแก่คนไทย และทั่วโลก ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจไทย ให้เป็นไปตามแผนที่เขาวางไว้