xs
xsm
sm
md
lg

ชป. ยันอ่างฯลำเชียงไกรตอนบนและอ่างฯห้วยบ้านยาง เมืองย่าโม ยังมั่นคง แข็งแรงดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมชลประทาน ยืนยันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบนและอ่างเก็บน้ำห้วยยาง จังหวัดนครราชสีมา ยังมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยดี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ หลังมีการนำเสนอข่าว “โคราชอ่างเก็บน้ำล้นเเล้ว 2 อ่างฯ ชลประทานเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง”

นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด ที่มีความจุเก็บกัก 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) อย่างต่อเนื่อง จนเต็มความจุเก็บกัก และมีน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น(Spillway) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน(24 พ.ค. 65) มีน้ำในอ่างฯ 8.48 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 101% ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำวันละ 0.3 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย โครงการชลประทานนครราชสีมาได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดนครราชสีมา และประชาชนด้านท้ายอ่างฯ ให้รับทราบสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว พร้อมกับยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน ยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยปริมาณน้ำที่ระบายนั้น เป็นน้ำที่ไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ซึ่งอาคารดังกล่าว จะทำหน้าที่ตามที่ได้ออกแบบไว้ และไม่ทำให้น้ำล้นเขื่อน ที่สำคัญไม่ได้เป็นการเร่งระบายน้ำตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ทางด้านอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ.เมืองนครราชสีมา ที่มีความจุเก็บกักประมาณ 6.52 ล้าน ลบ.ม. ฝนที่ตกหนักส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างฯปริมาณมาก ทำให้มีน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น(Spillway) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน(24 พ.ค. 65) ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6.56 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 101% ของความจุอ่างฯ ในขณะที่มีการระบายน้ำวันละ 0.10 ล้าน ลบ.ม.โดยปริมาณน้ำที่ระบายดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเช่นกัน

ทั้งนี้ โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดนครราชสีมา และประชาชนด้านท้ายอ่างฯ ให้รับทราบสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว และขอยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง ยังมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยดี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายนั้น เป็นน้ำที่ไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ซึ่งอาคารดังกล่าวทำหน้าที่ตามที่ได้ออกแบบไว้ และไม่ทำให้น้ำล้นเขื่อน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ในเขตอำเภอโนนสูง นั้น เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่ลำเชียงไกรตอนล่างปริมาณมาก ทำให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 100 ไร่ ด้านอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำวันละ 1.5 ล้าน ลบ.ม. ในขณะเดียวกันต้องรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน ที่มีปริมาณน้ำเต็มอ่างฯ โดยจะเร่งระบายน้ำดังกล่าวลงสู่แม่น้ำมูลโดยเร็วที่สุด

"ขอยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง มีความมั่นคงแข็งแรงดี คาดว่าการติดตั้งบานประตูระบายน้ำที่กำลังก่อสร้างอยู่ จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และเมื่อติดตั้งบานประตูระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถกักเก็บน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด ไว้ได้ ช่วยลดและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่างได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ โครงการชลประทานนครราชสีมาได้ทำหนังสือแจ้งไปยังจังหวัด และประชาชนด้านท้ายอ่าง ให้รับทราบสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว"


กำลังโหลดความคิดเห็น