xs
xsm
sm
md
lg

มกธ.-กรมคุ้มครองสิทธิฯ ลง MOU วิชาการ พร้อมเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทช่วยคนไทยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มกธ.- กรมคุ้มครองสิทธิฯ ลงMOU ทางวิชาการ พร้อมเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน หวังช่วยคนไทยเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม แก้ปัญหาคดีเล็กน้อยไม่ต้องถึงชั้นศาล โฆษกอว.ชี้ช่วยลดบาดแผลในใจคู่กรณีสร้างสังคมเป็นสุข

วันนี้( 17 พ.ค. )คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมทั้งทำพิธีเปิด “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน” เพื่อส่งเสริม พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมกัน อาทิ การจัดอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน การอบรมให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจในเรื่องการไกล่เกลี่ย ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวถือเป็นบทบาทหน้าที่ตามภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งในด้านการให้บริการวิชาการแก่สังคม

รศ.(พิเศษ) ดร. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวง กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “เราเคลียร์กันได้” ตอนหนึ่งว่า โครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะส่วนหนึ่งนโยบายกระทรวง อว.มีความมุ่งมั่นอยากให้มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทำงานกันเป็นทีมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดย อว.พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้มีโครงการแบบนี้ในทุกมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม คุ้มครอง และเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการพัฒนาระบบและกลไกการระงับข้อพิพาทในสังคม รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในภาคประชาชน ทั้งนี้การทำให้คู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทสามารถไกล่เกลี่ยกันได้จะไม่ทำให้เกิดบาดแผลในใจระหว่างกัน สังคมก็อยู่อย่างมีความสุข

ด้านนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กรมได้งบประมาณจากรัฐบาลเพื่อจัดอบรมหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนเพียงปีละ 100 คน กรมจึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชนเดินหน้าโครงการนี้ ขณะนี้พื้นที่กทม.ดำเนินการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนไปแล้ว 250 ศูนย์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ด้านกฎหมาย เคารพสิทธิและไม่ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รัฐต้องการให้มีประชาชนเข้าอบรมและสอบเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนเพื่อให้คดีเล็กๆน้อยๆไม่ต้องไปถึงขั้นศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าปล่อยให้เมื่อมีกรณีพิพาทกันตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการในชั้นศาลคู่กรณีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1.2 แสนบาท สิ่งที่ตามหาคือคนแพ้ถูกบังคับคดี ขณะที่คนชนะกว่าจะได้เงินก็รอนานมาก วันนี้คดีที่ถูกฟ้องคดีในลักษณะนี้มากคือ การกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.และไม่ชำระ มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มากถึง 3 แสนคน ดังนั้นการที่เราขับเคลื่อนงานยุติธรรมผ่านบ้าน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยจึงมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและคณบดีคณะนิติศาสตร์ มกธ. กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างคดีอาญาโทษไม่เกิน 3 ปี ถ้าสามารถเจรจากันได้ สิทธิทางอาญาจะถูกระงับไป ส่วนคดีแพ่งทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 แสนก็สามารถเจรจากันได้ผ่านศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเรื่องก็จบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งประชาชนมาร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดังกล่าวเราจะแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยเข้าช่วยเหลือ ทั้งนี้การจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนต้องผ่านการอบรมหลักสูตร 36 ชั่วโมงและต้องสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางกรมคุ้มครองสิทธิฯจึงจะขึ้นบัญชีเป็นผู้ไกล่เกลี่ย


กำลังโหลดความคิดเห็น