xs
xsm
sm
md
lg

ทางสายกลาง ทางรอด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ - อุตตม สาวนายน - สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

เมืองไทย 360 องศา


น่าจับตาไม่น้อยทีเดียว สำหรับพรรคสร้างอนาคตไทย พรรคน้องใหม่ที่เปิดตัวและขยับมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่าที่แคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค ได้เน้นย้ำ ชู “ทางสายกลาง” เพื่อกอบกู้วิกฤตชาติ และสร้างเศรษฐกิจในยุคใหม่

ที่ผ่านมา หลังมีการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค มีหัวหน้าพรรค นำโดย นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ประกาศแนวทางเดินสายกลาง “ไม่สุดโต่ง” ไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่ซ้ายไม่ขวา เน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก เชื่อมโยงกับการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ โดยพวกเขาเน้นย้ำในเรื่อง “ปากท้อง” เป็นเรื่องหลัก

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ของตัวบุคคลระดับคีย์แมนของพรรค ถือว่า มีความโดดเด่นในเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งในระดับมหภาค และเศรษฐกิจระดับชุมชน จึงนำมาชูเป็นจุดขายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้าน หลังจากต้องพบกับวิกฤตแทบทุกด้านมาอย่างยืดเยื้อ

ขณะเดียวกัน สภาพสังคมและการเมืองกลับกลายเป็นว่ามีการแบ่งขั้วแตกแยกกันอย่างร้าวลึกลงไปเรื่อยๆ จนแทบหาจุดลงตัว และประนีประนอมแทบไม่ได้เลย สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ย่อมเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

ดังนั้น การเสนอทางเลือกโดยชู “เส้นทางสายกลาง” ในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งแบบที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้ อาจจะเป็นทางออกให้กับบ้านเมืองในวันข้างหน้า ซึ่งถือว่าน่าสนใจไม่น้อย

เมื่อสองวันก่อน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้ว่าล่าสุดยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ออกมาอย่างชัดเจนกับแคนดิเดตบัญชีนายกฯของพรรคสร้างอนาคตไทย แต่ในวงการย่อมรับรู้กันอยู่แล้วว่า เขาต้องมีส่วนอย่างสำคัญกับการขับเคลื่อนพรรคสร้างอนาคตไทย ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ดังนั้นการเคลื่อนไหวของเขาย่อมเป็นที่จับตามองจากทุกฝ่าย

การแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกในรอบสองปี นับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ระหว่างกล่าวปาฐกถาพิเศษ ปิดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change : LFC) รุ่นที่ 12 ที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ในหัวข้อ “สัมมาชีพกับประเทศไทยหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ” โดยสรุปถึงปัญหาและเตือนให้เตรียมรับกับปัญหาในปัจจุบันและต่อเนื่องไปถึงอนาคตอันใกล้นี้ 6 ข้อ หรืออาจเรียกว่า “ 6 วิสัยทัศน์” ก็ได้ ได้แก่

1. โลกเผชิญอยู่มีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนที่สูงมากขึ้น ทั้งจากเรื่องของโควิด-19 และความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน 2 เรื่องนี้ เป็นเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน การจินตนาการในอนาคตยากมาก ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองต้องคิดล่วงหน้าเสมอ เพื่อประโยชน์ เพราะเป็นหน้าที่ ทั้งโควิด-19 ที่ไม่ได้ยุติลงได้ง่าย ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมาก และกระทบกับฐานะการเงินการคลังของทุกประเทศ ส่วนสงครามในยูเครน ก็ยุติไม่ง่ายเช่นกัน เป็นสงครามที่มีความประสงค์และความมุ่งมั่นของฝ่ายต่างๆ และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใดและไม่มีใครรู้ว่าสงครามใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะยูเครนเป็นแค่หมากตัวแรกของการต่อสู้เชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่ปัจจุบันการขยายวงไปยังสวีเดนและฟินแลนด์ ที่พยายามจะเข้าสู่นาโต

“เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร พลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั้งโลก ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะตามมาด้วยเรื่องของสังคมและการเมือง ซึ่งหลายประเทศเกิดจลาจลวุ่นวาย เนื่องจากคนที่ยากจนได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อรัฐบาลดูแลไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาตามมา เช่น ที่เกิดที่บราซิล ศรีลังกา และการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ฟิลิปปินส์ ที่เกิดขึ้นแล้ว”

2. ความเสี่ยงในเรื่องการคลังและความต้องการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากความไม่ปกติตั้งแต่เกิดโควิด-19 มา 2 ปี รัฐบาลมีความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก แต่มองไปข้างหน้า หากยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนต้องดูว่า ทรัพยากรที่จำกัดจะใช้ได้อย่างไร จะใช้เม็ดเงินทุกส่วนเพื่อฉุดให้ประเทศไทยพ้นปากเหว การช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถที่จะเดินต่อได้จึงต้องคิดนอกกรอบให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของการคิดนอกกรอบไม่ใช่ใช้วิธีแบบเดิมที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเดินต่อได้

ดังนั้น เรื่องการคลังเป็นเรื่องใหญ่ เพราะในอนาคตรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลแน่นอน แต่ที่ผ่านมาการใช้เงินเพื่อดูแลผู้บริโภคซึ่งทำได้แค่ระยะหนึ่งแต่นานๆ ไป ความเปราะบางทางการคลังจะมีมากการบริหารทรัพยากรของประเทศ คือ เงินในเรื่องงบประมาณการเงินการคลังจะมีความสำคัญมากเพราะเราเป็นประเทศขนาดเล็ก

ในการบริหารเรื่องนี้ มี 4 หน่วยงานสำคัญ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงบประมาณ, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง ซึ่งในภาะปกติก็ทำตามขั้นตอนปกติได้ แต่ในภาวะไม่ปกติแบบปัจจุบัน 4 หน่วยงานที่เป็นเสาหลัก ต้องทำงานให้เต็มที่ เป็นหลักในเรื่องการเงินการคลังของประทศต้องจัดสรรงบประมาณก่อนหลังตามความจำเป็น และต้องจัดสรรเพื่องบประมาณให้อนาคตเดินไปได้ทั้ง 4 เสาหลักการเงินการคลังต้องยืนให้เข้มแข็ง เพราะถ้า 4 หน่วยงานเสียงแข็งพอ ใครก็เขย่าไม่ได้ ต้องกล้าคิดกล้าเสนอไม่ให้การเมืองเป็นตัวกำหนด

3. การพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมากเกินไปจะเกิดปัญหา เนื่องจากลมเศรษฐกิจภายนอกไม่ดีทั้งการค้าและการท่องเที่ยว ไทยต้องปรับการขับเคลื่อนและการพัฒนาจากเดิมที่อาศัยปัจจัยภายนอกปัจจุบันเศรษฐกิจภายนอกไม่ดี ส่งผลกระทบทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวการสร้างความเข้มแข็งจากภายในมีความจำเป็นมาก การกระจายอำนาจการกระจายการคลังและกระจายงบประมาณอย่าให้งบประมาณกระจุกตัว ทั้งในเรื่องของงบประมาณ และอำนาจรวมทั้งการคลังไปยังท้องถิ่นควบคู่กับการลดกฎระเบียบที่ล้าสมัย

4. ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เราเริ่มถดถอยแข่งขันไม่ได้กับหลายประเทศในอาเซียน ยกตัวอย่างในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามานั้น เรามีความพร้อมหรือไม่ อินโดนีเซียได้เปรียบมาก ในเรื่องวัตถุดิบและตลาด แต่ของไทยนั้นยังช้า เนื่องจากการตัดสินใจที่ช้าของค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงช้าไปด้วย

ส่วนในเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่เคยทำในเรื่องอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ และทำในเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่การดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนในไทยก็ยังล่าช้า ต้องเร่งปรับเปลี่ยน

5. การมีบทบาทของไทยในเวทีโลกของไทยปัจจุบันจุดยืนและข้อเสนอใหม่ๆ ของไทยในภูมิภาคอาเซียนเบาบางลงไปมาก การเป็นศูนย์กลางของอาเซียนของไทยก็ลดบทบาทลงซึ่งจะส่งผลต่อการโน้มน้าวการเข้ามาลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยในอนาคตทำได้ยาก สิ่งที่ต้องทบทวนและตั้งคำถาม ก็คือ ปัจจุบันเรายังมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ มีบทบาทในอาเซียนหรือไม่ ในเรื่องนี้ต้องเร่งช่วยกันทำให้เข้มแข็งขึ้นก่อนที่จะถูกมองข้ามจากนานาชาติ

6. การขาดพลังในการรวมกันภายในชาติอย่างมีเอกภาพ ปัจจุบันความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อธรรมาภิบาลความเชื่อมั่นเชื่อถือ และเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐลดลง และหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ การทำงานก็จะทำงานได้ยากมาก เพราะจะถูกตั้งคำถามทำให้การทำงานของภาครัฐไม่สามารถทำได้ และพลังงานในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาประเทศขับเคลื่อนได้ยากและกรรมก็จะเกิดกับประชาชน เรามาถึงจุดที่ไม่น่าเชื่อจะเกิดขึ้นความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อธรรมาภิบาลของประเทศมันค่อยๆ อ่อนลงไปมีผลกระทบต่อความเชื่อ ทั้งความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และความเชื่อใจ การทำงานโดยถูกตั้งคำถามตลอดเวลาหากมากขึ้นถึงจุดหนึ่งทำอะไรก็ติดขัด ผิดไปหมดต้องรีบแก้ไข ต้องรีบสร้างความเชื่อ 3 ตัวนี้ให้กลับคืนมาให้ได้

สิ่งที่จะทำให้เกิดได้ต้องให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ ประการแรก การเมืองที่คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ถ้าการเมืองดีประเทศดี การเมืองอ่อนแอประเทศลำบาก ประชาชนลำบาก การเมืองที่มีแนวทาง “ยืดหยุ่นเป็นทางสายกลาง” ไม่เน้นความขัดแย้ง ไม่เน้นการเป็นปฏิปักษ์ ให้ทุกคนมีโอกาสพูดคุยแก้ไขสถานการณ์ ไม่มีขั้วไม่มีฝ่าย เป็นทางออกของประเทศได้ ท่านยังบอกอีกว่า แนวทางสายกลางไม่ใช่ไม่มีจุดยืน แต่เป็นจุดยืนของชาวพุทธที่ไม่ให้คนเราขัดแย้ง ท่านเชื่อว่า แนวทางสายกลาง คือ แนวทางที่ถูกต้อง คนจะให้การสนับสนุน เพราะขณะนี้คนไม่ต้องการความขัดแย้งแล้ว

ประการที่ 2 สภาวะผู้นำ การเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งและผู้นำแต่ละสถานการณ์ มีความแตกต่างกันในยามไม่ปกติ ต้องมีความชัดเจนในภาพของปัญหาและแนวทางแก้ไข แต่ถ้ามีเจตจำนงต่อรองจัดสรรผลประโยชน์ อำนาจเลือกตั้งกี่ครั้งก็ยังเป็นภูเขาที่เขยื้อนไม่ได้ ต้องเอาคนที่ดีที่เก่งมาช่วยกัน

และที่สำคัญที่สุด ประการที่ 3 ความสำคัญของภาคประชาชน ก็คือ คนที่ทำสัมมาชีพทำอาชีพที่ถูกต้องไม่เพียงพอยกระดับไปสู่การเป็นพลเมืองที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้

แม้ว่าเส้นทางเดินข้างหน้ายังอีกยาวไกล และสำหรับพวกเขา พรรคสร้างอนาคตไทย เพิ่งจะเริ่มต้น แต่การเสนอทางเลือกและทางออกให้กับบ้านเมือง และประชาชนมันก็เป็นเรื่องที่น่ารับฟัง ขณะเดียวกัน แม้ว่าในอนาคตยังไม่รู้พวกเขา “สมคิด อุตตม สนธิรัตน์” และทีมงานจะได้รับการยอมรับแค่ไหน แต่อย่างน้อยในท่ามกลางความขัดแย้งคุกรุ่น เมื่อมีทางเลือกแบบนี้ มันก็ควรพิจารณาไม่ใช่หรือ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น