“สมคิด” โชว์วิสัยทัศน์ครั้งแรกในรอบ 2 ปี ชี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากพิษ “โควิด-สงคราม” คลี่ 6 ปัญหาฉุดประเทศปลุก 4 เสาหลักการเงิน-การคลัง “สำนักงบฯ-ก.คลัง-ธปท.-สภาพัฒน์” ต้องแข็ง จัดทำงบประมาณตามความจำเป็นอย่าอ่อนข้อฝ่ายการเมือง ชี้ การเมืองต้องยึดสายกลาง ปัดตอบ “สร้างอนาคตไทย” ทาบนั่งแคนดิเดตนายกฯ
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ขึ้นปาฐกถาพิเศษ ปิดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change : LFC) รุ่นที่ 12 ที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพในหัวข้อ “สัมมาชีพกับประเทศไทยหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ”
นายสมคิด กล่าวตอนหนึ่งว่า การบรรยายครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีเต็ม นับตั้งแต่พ้นตำแหน่ง (รองนายกฯ) เพราะคิดว่าเมื่อออกจากหน้าที่แล้ว ไม่อยากที่จะพูดอะไรที่กระทบกระทั่งกับคนที่เขาทำงานอยู่โดยที่ไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม 2 ปี เต็มที่ห่างออกไปหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปทั้งภายนอกและภายในและเป็นพัฒนาการที่นำไปสู่สิ่งที่น่าห่วงใย คิดว่า เราทุกคนต้องตระหนักเอาไว้ร่วมกันคิดว่าจะช่วยกันอย่างไรในอนาคตข้างหน้าตนอาจจะคิดแล้วไม่ถูกต้องอาจจะมีผิดพลาดแต่ให้ถือว่าตนมีจิตใจบริสุทธิ์ที่หวังดี
สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคตโดยสรุปมี 6 ข้อ ที่เป็นความห่วงใยต่ออนาคตประเทศได้แก่
1. โลกเผชิญอยู่มีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนที่สูงมากขึ้นทั้งจากเรื่องของโควิด-19 และความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน 2 เรื่องนี้ เป็นเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน การจินตนาการในอนาคตยากมากทุกฝ่ายต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองต้องคิดล่วงหน้าเสมอเพื่อประโยชน์เพราะเป็นหน้าที่ทั้งโควิด-19 ที่ไม่ได้ยุติลงได้ง่ายส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากและกระทบกับฐานะการเงินการคลังของทุกประเทศส่วนสงครามในยูเครนก็ยุติไม่ง่ายเช่นกันเป็นสงครามที่มีความประสงค์และความมุ่งมั่นของฝ่ายต่างๆ และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใดและไม่มีใครรู้ว่าสงครามใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่เพราะยูเครนเป็นแค่หมากตัวแรกของการต่อสู้เชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ปัจจุบันการขยายวงไปยังสวีเดนและฟินแลนด์ที่พยายามจะเข้าสู่นาโต
“จนกลายเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดภาวการณ์ขาดแคลนอาหารพลังงานและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั้งโลกผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะตามมาด้วยเรื่องของสังคมและการเมือง ซึ่งหลายประเทศเกิดจลาจลวุ่นวาย เนื่องจากคนที่ยากจนได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อรัฐบาลดูแลไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาตามมาเช่นที่เกิดที่บราซิลศรีลังกาและการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ฟิลิปปินส์ที่เกิดขึ้นแล้ว”
2. ความเสี่ยงในเรื่องการคลังและความต้องการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากความไม่ปกติตั้งแต่เกิดโควิด-19 มา 2 ปี รัฐบาลมีความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก แต่มองไปข้างหน้า หากยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนต้องดูว่าทรัพยากรที่จำกัดจะใช้ได้อย่างไร จะใช้เม็ดเงินทุกส่วนเพื่อฉุดให้ประเทศไทยพ้นปากเหวการช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถที่จะเดินต่อได้จึงต้องคิดนอกกรอบให้ได้ซึ่งเป็นเรื่องของการคิดนอกกรอบไม่ใช่ใช้วิธีแบบเดิมที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเดินต่อได้ ดังนั้น เรื่องการคลังเป็นเรื่องใหญ่ เพราะในอนาคตรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลแน่นอนแต่ที่ผ่านมาการใช้เงินเพื่อดูแลผู้บริโภคซึ่งทำได้แค่ระยะหนึ่งแต่นานๆ ไป ความเปราะบางทางการคลังจะมีมากการบริหารทรัพยากรของประเทศคือเงินในเรื่องงบประมาณการเงินการคลังจะมีความสำคัญมากเพราะเราเป็นประเทศขนาดเล็ก
ในการบริหารเรื่องนี้มี4หน่วยงานสำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงบประมาณ,สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังซึ่งในภาะปกติก็ทำตามขั้นตอนปกติได้แต่ในภาวะไม่ปกติแบบปัจจุบัน 4หน่วยงานที่เป็นเสาหลักต้องทำงานให้เต็มที่เป็นหลักในเรื่องการเงินการคลังของประทศต้องจัดสรรงบประมาณก่อนหลังตามความจำเป็นและต้องจัดสรรเพื่องบประมาณให้อนาคตเดินไปได้ทั้ง 4เสาหลักการเงินการคลังต้องยืนให้เข้มแข็ง เพราะถ้า 4 หน่วยงานเสียงแข็งพอใครก็เขย่าไม่ได้ต้องกล้าคิดกล้าเสนอไม่ให้การเมืองเป็นตัวกำหนด
3. การพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมากเกินไปจะเกิดปัญหา เนื่องจากลมเศรษฐกิจภายนอกไม่ดีทั้งการค้าและการท่องเที่ยว ไทยต้องปรับการขับเคลื่อนและการพัฒนาจากเดิมที่อาศัยปัจจัยภายนอกปัจจุบันเศรษฐกิจภายนอกไม่ดี ส่งผลกระทบทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวการสร้างความเข้มแข็งจากภายในมีความจำเป็นมากการกระจายอำนาจการกระจายการคลังและกระจายงบประมาณอย่าให้งบประมาณกระจุกตัวทั้งในเรื่องของงบประมาณและอำนาจรวมทั้งการคลังไปยังท้องถิ่นควบคู่กับการลดกฎระเบียบที่ล้าสมัย
4. ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเราเริ่มถดถอยแข่งขันไม่ได้กับหลายประเทศในอาเซียน ยกตัวอย่างในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามานั้นเรามีความพร้อมหรือไม่ อินโดนิเซียได้เปรียบมากในเรื่องวัตถุดิบและตลาด แต่ของไทยนั้นยังช้าเนื่องจากการตัดสินใจที่ช้าของค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงช้าไปด้วย ส่วนในเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่เคยทำในเรื่องอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ และทำในเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่การดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายการดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนในไทยก็ยังล่าช้าต้องเร่งปรับเปลี่ยน
5. การมีบทบาทของไทยในเวทีโลกของไทยปัจจุบันจุดยืนและข้อเสนอใหม่ๆ ของไทยในภูมิภาคอาเซียนเบาบางลงไปมากการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนของไทยก็ลดบทบาทลงซึ่งจะส่งผลต่อการโน้มน้าวการเข้ามาลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยในอนาคตทำได้ยากสิ่งที่ต้องทบทวนและตั้งคำถามก็คือปัจจุบันเรายังมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่มีบทบาทในอาเซียนหรือไม่ในเรื่องนี้ต้องเร่งช่วยกันทำให้เข้มแข็งขึ้นก่อนที่จะถูกมองข้ามจากนานาชาติ
และ 6. การขาดพลังในการรวมกันภายในชาติอย่างมีเอกภาพ ปัจจุบันความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อธรรมาภิบาลความเชื่อมั่นเชื่อถือ และเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐลดลงและหากไม่มีสิ่งเหล่านี้การทำงานก็จะทำงานได้ยากมากเพราะจะถูกตั้งคำถามทำให้การทำงานของภาครัฐไม่สามารถทำได้และพลังงานในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาประเทศขับเคลื่อนได้ยากและกรรมก็จะเกิดกับประชาชนเรามาถึงจุดที่ไม่น่าเชื่อจะเกิดขึ้นความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อธรรมาภิบาลของประเทศมันค่อยๆ อ่อนลงไปมีผลกระทบต่อความเชื่อทั้งความเชื่อมั่นความเชื่อถือและความเชื่อใจการทำงานโดยถูกตั้งคำถามตลอดเวลาหากมากขึ้นถึงจุดหนึ่งทำอะไรก็ติดขัดผิดไปหมดต้องรีบแก้ไขต้องรีบสร้างความเชื่อ 3 ตัวนี้ให้กลับคืนมาให้ได้
“ทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาที่จะว่าใครเลยแต่เป็นสิ่งที่เราเห็นและอนาคตต้องเผชิญกับมันหมอกมันหนาจัดความเสี่ยงภัยมันสูงพลังของประเทศต้องแข็งแรงพอที่จะฝ่าฟันภาวะอย่างนี้ต้องรีบเยียวยาไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาแบกรับเป็นไปไม่ได้จะผลิตอัศวินขี่ม้าขาวมากี่คนทุกอย่างก็เหมือนเดิมดีไม่ดีแย่กว่าเดิม”
สิ่งที่จะทำให้เกิดได้ต้องให้ความสำคัญใน 3เ รื่อง คือ ประการแรก การเมืองที่คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่างถ้าการเมืองดีประเทศดีการเมืองอ่อนแอประเทศลำบากประชาชนลำบากตอนไปพบ นพ.ประเวศ วะสี บอกว่า การเมืองในอนาคตหากมีความขัดแย้งแตกแยกจะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ น่าจะพักไว้ก่อน การเมืองที่มีแนวทางยืดหยุ่นเป็นทางสายกลาง ไม่เน้นความขัดแย้ง ไม่เน้นการเป็นปฏิปักษ์ ให้ทุกคนมีโอกาสพูดคุยแก้ไขสถานการณ์ ไม่มีขั้วไม่มีฝ่ายเป็นทางออกของประเทศได้ ท่านยังบอกอีกว่า แนวทางสายกลางไม่ใช่ไม่มีจุดยืน แต่เป็นจุดยืนของชาวพุทธที่ไม่ให้คนเราขัดแย้ง ท่านเชื่อว่า แนวทางสายกลาง คือ แนวทางที่ถูกต้องคนจะให้การสนับสนุนเพราะขณะนี้คนไม่ต้องการความขัดแย้งแล้ว
ประการที่ 2 สภาวะผู้นำการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งและผู้นำแต่ละสถานการณ์มีความแตกต่างกันในยามไม่ปกติต้องมีความชัดเจนในภาพของปัญหาและแนวทางแก้ไขแต่ถ้ามีเจตจำนงต่อรองจัดสรรผลประโยชน์อำนาจเลือกตั้งกี่ครั้งก็ยังเป็นภูเขาที่เขยื้อนไม่ได้ต้องเอาคนที่ดีที่เก่งมาช่วยกัน
และที่สำคัญที่สุดประการที่ 3 ความสำคัญของภาคประชาชน ก็คือ คนที่ทำสัมมาชีพทำอาชีพที่ถูกต้องไม่เพียงพอยกระดับไปสู่การเป็นพลเมืองที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังปาฐกถาเสร็จสิ้น นักศึกษาหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงของมูลนิธิสัมมาชีพได้มายื่นต่อแถวรอมอบดอกกุหลาบให้แก่นายสมคิด ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบนายสมคิด ถึงกรณีที่พรรคสร้างอนาคตไทย จะเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่นายสมคิดโบกมือปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่าวันนี้ไม่สัมภาษณ์เรื่องการเมือง.