xs
xsm
sm
md
lg

โช๊ะ! อดีตบิ๊กสำนักงานศาล “สราวุธ เบญจกุล” ถูกถอนชื่อสมัครผู้ว่าฯ กทม. ฝันลมๆ ก็พลันสลาย **พปชร.แค่จับแช่แข็ง “พิเชษฐ” ที่ไปสุมหัวฝ่ายค้าน โดยไม่ขับพ้นพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**โช๊ะ! อดีตบิ๊กสำนักงานศาล “สราวุธ เบญจกุล” ถูกถอนชื่อสมัครผู้ว่าฯ กทม. ฝันลมๆ ก็พลันสลาย

ขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังเข้มข้นเข้าสู่โค้งสุดท้าย อีกฟากของ กกต.ก็ทำงานแข่งกับเวลา ดูคุณสมบัติผู้สมัครว่ามีรายไหนที่คุณสมบัติไม่ได้ ไม่สมควรให้ “ไปต่อ” ให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนไม่ต้องเสียเวลาเหลือบแล

ว่าแล้ว กกต.ก็ “ฟันโช๊ะ” ไปที่ผู้สมัครหมายเลข 28 “สราวุธ เบญจกุล” วินิจฉัยให้ถอนรายชื่อออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เรื่องนี้ย่อมไม่ธรรมดา เพราะ “สราวุธ” เป็นใคร? ก็ต้องบอกว่า ตำแหน่งสุดท้ายของเขา คือ “ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม” ก่อนหน้านั้น เคยเป็นถึง “เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม” แถมยังเป็นบอร์ดองค์กรของรัฐอีกหลายแห่ง อาทิ ประธานบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) และกรรมการสภามหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ... ธรรมดาซะที่ไหน

เหตุผลที่ กกต.ถอนชื่อ “สราวุธ” ออกจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “สำราญ ตันพานิช” ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตามมาตรา 56 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 เนื่องจากตรวจสอบพบข้อเท็จจริงว่า “สราวุธ” เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง จากเหตุถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณาผิดวินัยร้ายแรง ลงโทษไล่ออกจากราชการ

สราวุธ เบญจกุล
ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม แจ้ง กกต.กลับมาว่า “สราวุธ” โดนข้อหาตามมาตรา 77(1) และ (3) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่ง (1) เป็นเรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงทำให้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 50(8) ที่ระบุว่า เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

ย้อนไปตอนที่ “สราวุธ” อุตส่าห์ลาออกจากราชการ ย่องมาสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เงียบๆ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา บางส่วนก็ฮือฮา ตีข่าวว่า คนระดับบิ๊กสำนักงานศาลก็มาสมัคร แต่ส่วนมากสงสัยว่า “สราวุธ” ที่ไม่เคยเล่นการเมือง ไม่มีฐานเสียงใดๆ ในพื้นที่ กทม. ไปเอาความมั่นใจจากไหนมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

สืบไปสืบมาก็ถึงบางอ้อ ...อ๋อ ตอนนั้น เขากำลังลุ้นใจเต้น ตุ้มๆ ต่อมๆ กับการรอการลงมติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กรณีผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากกรณีการปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏพยานหลักฐานว่า มีเอกชนเข้ามาทำงานก่อนประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาล ซึ่งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) มีมติเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า “สราวุธ” ผิดวินัยร้ายแรง เห็นควรลงโทษด้วยการ “ให้ออกจากราชการ”

ก่อนที่ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) จะลงมติอย่างเป็นทางการ ตามขั้นตอนถัดมา ซึ่งกำหนดเป็นวาระในการประชุม ในวันที่ 4 เม.ย. หรือ 1 วัน ที่จะตัดสินอนาคตของเขา

สำราญ ตันพานิช
“สราวุธ” ก็เลยอาศัยช่วงว่างอันน้อยนิดนี้ แก้เกมไม่รอให้ ก.ต.ลงมติ ชิงลาออกก่อน และ เป็นจังหวะปะเหมาะที่ กทม.เปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ จึงมาสมัครในวันที่ 3 เม.ย. โดยคิดคำนวณว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้ว เนื่องเพราะเชื่อว่า ตามระเบียบปฏิบัติของราชการศาล ถ้าข้าราชการ “ลาออก” เพื่อไปลงสมัครการเมืองท้องถิ่น ก็ให้มีผลทันทียับยั้งการลาออกไม่ได้
ถ้าได้รับรองเป็นผู้สมัครได้ ก็หมายถึงโอกาสที่จะได้สิทธิคุ้มครองรับประโยชน์เงิน “บำเหน็จบำนาญ” ตามกฎหมาย ไม่ว่า ก.ต.จะลงมติ “ไล่ออกจากราชการ” หรือไม่

เรียกว่าที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้หวังคะแนน แต่หวังผลประโยชน์จากราชการ โดยเฉพาะเงื่อนไขการรับเงินบำเหน็จบำนาญ ซึ่งสำหรับข้าราชการแล้ว สิทธิจากการ “ลาออก-ให้ออก-ไล่ออก” ย่อมมีความหมายต่างกัน

“สราวุธ” ลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งวันเดียว อีกวันถัดมา 4 เม.ย. ทาง ก.ต.ก็ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียงให้ “ไล่ออกจากราชการ” ตามมา นับเป็นข้าราชการระดับสูงของสำนักงานศาล ที่โดนโทษหนัก นั่นจึงเป็นที่มาของ กกต.ต้องวินิจฉัยว่า “สราวุธ” มีสิทธิที่จะลงสมัครหรือไม่ จนกระทั่งวินิจฉัยแล้วว่า หมดสิทธิ ดังกล่าว

งานนี้ฝันสลายกลายเป็นอากาศธาตุ อดทั้งการเป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และคงอดทั้งบำเหน็จบำนาญ กันไป ... เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้



**พปชร.แค่จับแช่แข็ง “พิเชษฐ” ที่ไปสุมหัวฝ่ายค้าน โดยไม่ขับพ้นพรรค

จาก “ส.ส.ปัดเศษ” เหมือนกัน แต่เมื่อเข้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลแล้ว กลับดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบต่างกันสุดขั้ว

ที่กำลังพูดถึงนี้ คือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” กับ “พิเชษฐ สถิรชวาล”

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ก่อนหน้านี้ “ไพบูลย์” เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ต่อมาได้ยุบพรรคตัวเอง แล้วมาเข้าพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเห็นว่า เมื่อมีการแก้ รธน.และกฎหมายเลือกตั้งใหม่ไม่เอื้อต่อพรรคเล็ก...บทบาทใหม่ของ “ไพบูลย์” ทำหน้าที่ด้านกฎหมายเป็น “องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล” ทั้งในสภา นอกสภา จนได้ดิบได้ดี ได้ขึ้นลิฟต์เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ส่วน “พิเชษฐ” ก็เดินตามรอย “ไพบูลย์โมเดล” ยุบพรรคประชาธรรมไทย ที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค แล้วมาเข้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ...แต่เมื่อเข้ามาแล้วกลับทำตัวเป็น “หอกข้างแคร่” ไปสุมหัวกับบรรดาพรรคเล็ก ตั้ง “กลุ่ม 16” เคลื่อนไหวต่อรองกดดันรัฐบาลเสียเอง... ที่ภาษาการเมืองยุคนี้เรียกว่า “ขอกล้วย”

ในช่วงที่ฝ่ายค้านโหมโรงเรื่องการอภิปรายไว้วางใจรัฐบาล “พิเชษฐ” ก็ออกตัวอย่างเอิกเกริก ทั้งให้สัมภาษณ์รายวัน ทั้งนัดกินข้าวกับแกนนำฝ่ายค้าน บอกมีข้อมูลเด็ดจะร่วมอภิปราย คือเรื่องประมูลโครงการ “ท่อส่งน้ำอีอีซี” ที่ไม่ชอบมาพากล โดยพุ่งเป้าไปที่ “สันติ พร้อมพัฒน์” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ รมช.คลัง ในฐานะผู้กำกับดูแลการประมูลโครงการดังกล่าว ทำเอาบรรยากาศภายในพรรคร้อนขึ้นมาทันที

มีเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบการประมูลโครงการ ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้มีการสอบ “พิเชษฐ” ว่า ทำผิดข้อบังคับพรรค หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือเปล่า ที่ไปสุมหัวกับฝ่ายค้านเพื่อมาล้มรัฐบาล ... แต่ “พิเชษฐ” ยักไหล่ ไม่สน แถมท้าให้ขับพ้นพรรคได้เลย หากเรียกสอบก็จะไม่ไป

แล้ว “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ในฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมาย และข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ก็รับบทประธานสอบเรื่องนี้ และมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า...

การที่ “พิเชษฐ” ตั้งกลุ่มการเมือง ใช้ชื่อ “กลุ่ม16” ถือเป็นการขัดคำสั่งหัวหน้าพรรค ที่ไม่ให้สมาชิกพรรคมีการตั้งกลุ่มการเมือง เพราะจะเป็นการทำลายเอกภาพของพรรค

นอกจากนี้ การไปร่วมประชุมกับ คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพื่อเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพรรคและฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหลายข้อ

นอกจากนี้ “พิเชษฐ” ยังได้โทรศัพท์คุยกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ถือเป็นการคบหาผู้ประพฤติผิดกฎหมาย...

พิเชษฐ สถิรชวาล
การกระทำของ “พิเชษฐ” ถือว่าไม่มีสำนึกร่วมรับผิดชอบต่อเสถียรภาพของพรรค ทำให้สังคมและบุคคลภายนอกเข้าใจผิด และตำหนิติเตียนพรรค ทำให้พรรคเสียหายต่อชื่อเสียง ...จึงมีมติเห็นควรให้ดำเนินการ งดเว้นสิทธิของ “พิเชษฐ” ในฐานะสมาชิกพรรคที่พึงได้จากพรรคเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน ให้มีผลตั้งแต่ 12 พ.ค. 65 ถึง 12 พ.ย. 65 ดังนี้

1. สิทธิในการได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ หรือตำแหน่งอื่น ในสัดส่วนของพรรค 2. สิทธิในการร่วมกิจกรรม ร่วมประชุม หรือใช้ห้องประชุมพรรคและสิทธิในการรับข้อมูล ข่าวสารต่างๆ เช่น ในระบบแอปพลิเคชันไลน์ของพรรค 3. สิทธิในการใช้ชื่อ ตรา เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ของพรรคในการประชาสัมพันธ์ต่างๆ

หากยังกระทำผิดซ้ำ ก็จะขยายเวลาการตัดสิทธิดังกล่าวออกไปอีก แต่ไม่ขับพ้นพรรค เพราะการพิจารณาโทษครั้งนี้ ทำในฐานะที่ “พิเชษฐ” เป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่ในฐานะ ส.ส.

“เขาอยากให้ขับ เราก็ไม่ขับ ก็อยู่กันอย่างนี้ล่ะครับ..แต่ถ้าเขาจะไปจริงๆ เขาก็คิดได้เอง”

เป็นอันว่าบทลงโทษจากพรรคนั้นเบาะๆ แค่ถูก “แช่แข็ง” ไม่ถึงกับขับพ้นพรรค

แต่ไม่แน่ หากมีผู้ไปร้องต่อ กกต. ด้วยเห็นว่า พฤติกรรมของ “พิเชษฐ” ในฐานะ ส.ส.นั้น เข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญ หากมีเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง...ต้องจับตาว่าจะมีดาบสองตามมาหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น