xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เผยมีความสุขอีกครั้งหลังพบ ปชช.- เกษตรกร ชลบุรี ดัน 3 นโยบายหนุน “เกษตรอัจฉริยะ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ โพสต์พรรณนา มีความสุขอีกครั้งหลังพบ ปชช.-เกษตรกร ชลบุรี มอบนโยบายสำคัญ 3 ประการส่งเสริม “เกษตรอัจฉริยะ” ปลื้มนโยบายต่างๆ ถูกแปลงไปสู่การปฏิบัติเห็นผลจับต้องได้ ชู 3 ชุมชนเป็นแรงบันดาลใจเกษตรกรไทย มุ่งยกระดับเกษตรกรพลิกโฉมประเทศ

วันนี้ (9 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ Facebook ส่วนตัว ระบุว่า เป็นอีกครั้งที่ผมมีความสุข จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการจังหวัดชลบุรี พบปะพี่น้องประชาชน รับฟังตัวแทนเกษตรกรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จ และหารือร่วมกับภาคเอกชนของไทย เพื่อผนึกกำลังทุกภาคส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยรัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2507 ความว่า “ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของภาคเกษตรเป็นสำคัญ”

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ผมจึงได้มอบนโยบายสำคัญ 3 ประการ ในการส่งเสริม “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Farming) ได้แก่ (1) การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร (2) การส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร และ (3) การบริหารจัดการแปลงใหญ่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่นโยบายต่างๆ ถูกแปลงไปสู่การปฏิบัติ และเห็นผลจับต้องได้ ซึ่งผมขอขอบคุณและขอชื่นชม “ชุมชนต้นแบบ Smart Farming” ที่ได้มาบอกเล่าความสำเร็จของท่าน ให้กับภาครัฐและภาคเอกชนในวันนี้ อีกทั้งจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยทั่วประเทศอีกด้วย ดังเช่นที่พี่น้อง Smart Farmer ในพื้นที่ต่างๆ 3 ชุมชนตัวอย่างได้ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ได้แก่

1. วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ (สมาชิก 158 คน พื้นที่ 2,541 ไร่) ดำเนินการเรื่อง “ลด (ต้นทุน) ละ (การหว่าน) เลิก (การเผา)” เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ปุ๋ยเคมีราคาสูง ผลผลิตตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ต่ำ โดยเปลี่ยนจากนาหว่าน มาทำนาหยอดแห้ง หรือปักดำ และส่งเสริมการปลูกพืชบำรุงดินหลังฤดูการเก็บเกี่ยว นอกจากจะเพิ่มธาตุอาหารในดินแล้ว ยังลดการเผาฝางข้าวอีกด้วย ประกอบกับมีการนำโดรนมาใช้พ่นสารชีวภัณฑ์แทนแรงงานคน ที่ช่วยให้สามารถลดต้นทุนการทำนา 20% จาก 3,500 บาท/ไร่ เหลือ 2,700 บาท/ไร่ ที่สำคัญ คือ การลดมลภาวะทางอากาศ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเลี่ยงใช้สารเคมีด้วย

2. วิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี (สมาชิก 219 คน พื้นที่ 2,318 ไร่) ดำเนินการเรื่อง “ทดแทนแรงงานด้วยการบริหารเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ” เพื่อแก้ปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ลาดชันไม่สม่ำเสมอ และขาดแคลนแรงงาน โดยส่งเสริมการรวมกลุ่ม ตั้งเป็นคณะกรรมการ แบ่งหน้าที่ชัดเจน และหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาบริหารร่วมกัน กำหนดตารางการใช้งานสำหรับสมาชิกทุกคน ส่งผลให้มีรายได้ประมาณ 1,500,000 บาท/ปี เกิดการจ้างงานในชุมชน ผลผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น และเก็บเกี่ยวได้ทันตามเวลา

3. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ (สมาชิก 84 คน พื้นที่ 1,700 ไร่) ดำเนินการเรื่อง “ชุมชน “น้ำ” ดี” เพื่อแก้ปัญหาขาดพื้นที่รองรับน้ำช่วงฤดูฝน และน้ำท่วมฤดูน้ำหลาก โดยการบริหารจัดการน้ำเองในชุมชนอย่างเป็นระบบ ด้วยการสำรวจพื้นที่สำหรับขุดสระ เจาะบ่อบาดาล ทำโคก หนอง นา และคลองไส้ไก่ ภาครัฐเข้าไปเสริมการทำฝายชะลอน้ำ และจัดทำแผนการบริหารน้ำแบบ “สระพวง” รวมทั้งส่งเสริมการปรับตัวไปปลูกพืชหมุนเวียน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียว เพิ่มเติมจากการปลูกข้าวอายุสั้น นอกจากนี้ ยังริเริ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชท้องถิ่น คือ กล้วยหินและมะขามหวานที่เป็นจุดขายของเพชรบูรณ์ มาสร้างแบรนด์ “กล้วยฮักมะขาม” ช่วยให้ทุกคนมีรายได้ตลอดทั้งปี

สิ่งเหล่านี้ เป็นต้นแบบที่งดงามของความร่วมมือกันของชุมชน ภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศให้เข้มแข็ง นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังมีการดำเนินการในภาพรวมอีกมาก ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น (1) การพัฒนาเกษตรรุ่นใหม่ด้วยนวัตกรรม และการสร้าง Startup สนับสนุนภาคการเกษตร (2) การใช้ข้อมูล Big Data ภาคการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) การจัดการพื้นที่เกษตรเชิงรุกด้วย Agri-map (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศ (5) การสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ เช่น ระบบการเช่า-การจัดหาผู้ว่าจ้างเครื่องจักรกลทางการเกษตร (6) การพัฒนาด้านการตลาด เช่น ตลาดออนไลน์ ต่อยอดจากโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นต้น

ส่วนตัวผมเองนั้น มีความปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะเห็นการยกระดับภาคเกษตรกรรมของไทย ซึ่งครอบคลุมประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ ให้มีความทันสมัย เป็นเกษตรอัจฉริยะที่ยั่งยืนให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ในการพลิกโฉมประเทศ ในยุคดิจิทัลต่อไป ซึ่งพ่อแม่พี่น้องชาวเกษตรกร ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้เป็นจริงได้ครับ

https://www.facebook.com/100044605651717/posts/538912417605609/










กำลังโหลดความคิดเห็น