“สนธิรัตน์” กระตุก รบ.ต้องกล้าหาญแก้วิกฤตราคาน้ำมัน เร่งสื่อสารชาวสวน จำเป็นลดเติมน้ำมันปาล์มในดีเซล เหตุราคาปาล์มแพง และหาช่องส่งออกทดแทน ย้ำ ไอเดียเลิกอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ชั่วคราว ยึดต้นทุนโรงกลั่นในไทย พร้อมยืดมาตรการลดภาษีดีเซล ที่ไม่ต่อกระทบราคาสินค้าหนักแน่ เตือนระวังระเบิดเวลาราคาไฟฟ้า หลังแหล่งเอราวัณมีปัญหา ราคา LNG ตลาดโลกพุ่ง 3 เท่า
วันนี้ (8 พ.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้วิกฤตราคาน้ำมันแพงในขณะนี้ว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันของไทยในขณะนี้ ต้องพิจารณาเร่งด่วน 2 ส่วน คือ 1. ราคาเนื้อน้ำมัน หรือราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นไทยมีความซับซ้อนกว่าประเทศอื่น เพราะน้ำมันดีเซลก็จะมีการผสมเป็นไบโอดีเซล ส่วนแก๊สโซฮอล์มีเอทานอลเข้ามาผสม และ 2. ภาษี ที่บ้านเรามีภาษีหลายตัว ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่ง 2 ส่วนนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จำเป็นต้องมาร่วมหารือกันถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ที่จำเป็นต้องลงลึกเพื่อแก้ไขปัญหา
นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันราคาน้ำมัน B100 ราคาสูงมาก จากราคาผลปาล์มสดที่ได้ไต่ราคาขึ้นไปถึง 12 บาท จากเดิมที่เคยส่งเสริมให้มีการนำมาผสมกับน้ำมันดีเซล เพื่อดึงราคาปาล์มขึ้นมา จนปัจจุบันโตขึ้นมาถึง 4 เท่า จากที่เคยเริ่มส่งเสริมเมื่อไม่กี่ปีก่อน ส่งผลให้ B100 สูงไปที่ลิตรละ 50 กว่าบาท จึงเกิดปัญหาเมื่อราคาเนื้อน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 20 บาทเศษ ไม่ถึง 30 บาท และเมื่อผสมกับไบโอดีเซลทำให้มีปัญหาราคาที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามแก้ไขโดยการลดปริมาณการผสมจาก B10 เป็น B7 เป็น B5 ซึ่งก็มีผลกระทบทั้ง 2 ขาคือ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และหากลดปริมาณการใช้ B100 ก็ไปกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์ม
เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวต่อว่า วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ราคาปาล์มที่ 12 บาทต่อกิโลกรัมนั้น เกินราคาคาดหมายของเกษตรกรไปมาก รวมทั้งเป็นปัญหาไปสู่ราคาน้ำมันของประเทศ ที่กระทบไปถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศ อีกทั้งส่งผลต่อเนื่องต่อราคาน้ำมันปาล์มขวดสำหรับบริโภคที่สูงขึ้น เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องสื่อสารให้ทุกฝ่ายรับทราบทั้งฝั่งเกษตรกรและฝั่งผู้บริโภค ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจ ก่อนที่จะดำเนินนโยบายใดๆเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบหลายภาคส่วน ซึ่งในราคา B100 เอง ก็มีโครงสร้างหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ จากผลปาล์มสด 12 บาท ไปถึงราคา B100 ที่สูงไปถึงลิตรละ 50 กว่าบาท ต้องไปดูว่า มีส่วนไหนที่ปรับลดลงได้หรือไม่ รวมถึงชี้ให้เห็นว่าหากราคาปาล์มสูงขนาดนี้ก็อาจจะไม่สามารถนำมาผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้
“การบริหารในภาวะวิกฤต ย่อมแตกต่างจากการการบริหารในภาวะปกติ ในภาวะวิกฤตต้องอาศัยความกล้าหาญในการเข้าไปบริหารจัดการ ต้องเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข บริหารโครงสร้างทั้งหมด จะปล่อยให้ผู้ประกอบการด้านใดด้านหนึ่งได้ประโยชน์อยู่เพียงฝ่ายเดียว รัฐต้องกล้าหาญในการเริ่มสื่อสารก่อนว่า หากราคาปาล์มสูงเช่นนี้ก็จะไม่สามารถนำมาใช้ในน้ำมันไบโอดีเซล ต้องสื่อสารชัดๆให้ทุกฝ่ายรับทราบตรงกันก่อนว่า เกิดปัญหาขึ้น แล้วค่อยมาบริหารร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ฝั่งของเกษตรกร และผู้ประกอบการปาล์มน้ำมัน รับรู้ผลกระทบและปรับตัว โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้” นายสนธิรัตน์ ในฐานะอดีต รมว.พาณิชย์ ระบุ
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า แล้วต้องมาเริ่มดูผลกระทบว่า หากภาครัฐตัดสินใจลดการผสม หรือลดสัดส่วน B100 ลงไปในน้ำมันดีเซล จะทำให้ความต้องการปาล์มน้ำมันลดลง จะกระทบเกษตรกรและต้องหาแก้ไขรองรับอย่างไร โดยวิเคราะห์ทั้งระบบเพื่อดูความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อการบริโภค เพื่อพลังงานและการส่งออก ซึ่งถ้าลดการใช้ในพลังงานอาจทำให้ราคาน้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภคลดราคาลง รวมไปถึงดูทางออกอื่นๆ เช่น รัฐอาจจะพิจารณาเพิ่มการส่งออกน้ำมันปาล์มมากขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และอินโดนีเซียผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้งดการส่งออกเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มในประเทศไม่เพียงพอความต้องการ ซึ่งต้องประเมินว่าโอกาสของการส่งออกเป็นอย่างไร เพราะถ้าสต๊อกน้ำมันปาล์มมีมากต้องส่งออก และในอดีตไทยส่งออกได้ไม่มาก เพราะราคาน้ำมันปาล์มของไทยแพง เพราะเราไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่
ในส่วนของราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่มีการกำหนดราคาขายน้ำมันสำเร็จรูป ด้วยการอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์นั้น นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน โดยฝ่ายหนึ่งมองว่า ราคาน้ำมันสิงคโปร์เป็นราคาที่มีมาตรฐานของภูมิภาคนี้ ในขณะที่อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอิงราคาสิงคโปร์ เพราะเห็นว่ามีราคาค่าขนส่งและค่าประกัน เพิ่มเข้ามา ส่วนตนได้เคยเสนอไปแล้วว่า ในสถานการณ์วิกฤตวันนี้ มีโจทย์ว่า เราจะต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด อะไรที่เป็นเหตุที่ทำให้ราคาสูงโดยไม่จำเป็นก็ต้องตัดออกมา อาจยกเลิกการอ้างอิงราคาตลอดสิงคโปร์ชั่วคราวได้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับราคาต้นทุนน้ำมันดิบบวกค่าการกลั่นในประเทศแล้ว แบบใดถูกกว่าก็ใช้เป็นตัวตั้ง หากราคาสิงคโปร์ยังถูกกกว่าก็ใช้เหมือนเดิม ส่วนระยะยาวจะอ้างอิงอย่างไรต้องถกเถียงกันต่อไป
“ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ เราไม่รู้ว่าจะต้องแบกภาระค่าน้ำมันไปถึงเมื่อไหร่ หากสงครามลากยาวถึงปลายปี 2565 ประเทศไทยก็ย่อมได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานสูงมากต่อไปอีกหลายเดือน ถามว่าภาครัฐมีงบประมาณสนับสนุนได้ระดับใด ทำให้มีข้อเสนอว่า ประเด็นใดที่ลดต้นทุนในโครงสร้างน้ำมันได้ควรลดลง มิเช่นนั้นจะเป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องกู้เงินมาอุดหนุนน้ำมันอีก” อดีต รมว.พลังงาน กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าด้วยว่า สมัยที่เป็น รมว.พลังงาน ได้เป็นผู้ริเริ่มปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น โดยใช้เวลา 7-8 เดือน ในการทำงานร่วมกับกลุ่มที่คัดค้าน และได้สูตรที่ลดราคาหน้าโรงกลั่นลงลิตรละ 50 สตางค์ สะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนทางเทคนิค แต่ก็อยู่ภาครัฐและโรงกลั่นที่จะต้องมาเปิดตัวเลขต้นทุนเพื่อพูดคุยกัน ในการกำหนดต้นทุนการกลั่นที่เป็นธรรม เรื่องนี้ต้องใช้ความกล้าหาญหากภาครัฐจะหารือกับโรงกลั่น ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจพลังงาน ที่จะต้องมาช่วยสร้างสมดุล ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเพื่อลดงบประมาณของรัฐในการเข้ามาอุ้มราคาน้ำมัน และลดภาษะของพี่น้องประชาชน
นายสนธิรัตน์ ระบุด้วยว่า จากการศึกษาการแก้ปัญหาระยะสั้นของราคาพลังงานแพงของรัฐบาลทั่วโลกพบว่า มีอยู่ 4 แนวทาง คือ 1. ลดภาษีชั่วคราวในช่วงเวลาที่มีปัญหา 2. รัฐตั้งงบประมาณอุดหนุน ซึ่งของเราก็เป็นในส่วนของกองทุนน้ำมัน 3. รัฐเข้าไปควบคุมโครงสร้างราคา ออกนโยบายให้ชัดเจนว่าจะควบคุมอะไรบ้าง และ 4. การอุดหนุนให้กลุ่มเปราะบาง ดังนั้น เรื่องของภาษีเป็นเรื่องนโยบลายที่รัฐจำเป็นต้องหยิบมาใช้ในภาวะวิกฤต ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเหลือ 3.20 บาทต่อลิตร ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 พ.ค. 2565 และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 3 บาท โดยรัฐกำหนดเพดานไว้ลิตรละ 35 บาทนั้น ตนมองว่าอย่างน้อยภาครัฐควรต่อมาตรการดังกล่าว เพราะถ้าไม่ต่อ อาจจะมีผลกระแทกต่อต้นทุนสินค้า ที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าต้องขึ้นทั้งหมด ซึ่งรัฐต้องบริหารไม่ให้ราคาน้ำมันเกินกว่านั้น และกระทรวงพาณิชย์ต้องบริหารไม่ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นสูงด้วย โดยการกำหนดระดับภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ควรกำหนดอัตราที่ไม่ให้ราคาดีเซลสูงขึ้นไปเกิน 35 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่นำมาสู่การปรับราคาสินค้าทั้งระบบ
“เรื่องน้ำมัน เรื่องพลังงาน ทำให้รัฐบาลลำบากมาหลายยุคหลายสมัย เพราะฉะนั้นอย่าให้ไปถึงจุดนั้น และภาษีก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ทั้งโลกหยิบมาใช้ โดยช่วงเวลาอย่างนี้ชาวบ้านก็รู้สึกว่ารัฐต้องเสียสละเรื่องภาษีหรือเปล่า รัฐต้องไปพิจารณาว่าหากวิกฤตอีก 8 เดือน จะพอยอมได้ไหมในเรื่องภาษี อดีตก็เคยเดินมาแล้วภาษีสรรพสามิตดีเซลเหลือเพียงลิตรละ 0.005 บาท หรือครึ่งสตางค์มาแล้ว เพราะถึงอย่างไรหากก็เป็นภาระของรัฐอยู่ด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ภาครัฐต้องทำการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะการทำแคมเปญเพื่อสร้างการรับรู้ราคาพลังงานแพง เช่น การรณรงค์ใช้รถสาธารณะ ซึ่งสร้างแรงจูงใจการใช้ขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างการรับรู้การเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติพลังงาน เพราะปัจจุบันประชาชนใช้พลังงานในแบบสถานการณ์ปกติในขณะที่รัฐหาทางแก้ไขปัญหา จึงต้องหาทางให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหา รวมทไปถึงปัญหาค่าไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซที่สูงขึ้น ซึ่งในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านสัมปทานแหล่งเอราวัณจากเชฟรอนมา ปตท.สผ.ไม่ราบรื่นเพราะมีการฟ้องร้อง ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณจากวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องนำเข้ามาชดเชย เพราะไทยใช้วันละ 4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในส่วนนี้ใช้ผลิตไฟฟ้า 2,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต
“ขณะนี้มีระเบิดเวลาที่จะกระทบกับค่าไฟฟ้า ทั้งปัญหาการเปลี่ยนผ่านสัมปทานแหล่งเอราวัณ ราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นจาก 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเป็น 25-30 ดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนสำหรับผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นตามราคาแอลเอ็นจี จนทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาหรือดีเซลผลิตไฟฟ้า ตลอดจนโรงไฟฟ้าบางแห่งหยุดผลิตไฟฟ้าเพราะต้นทุนก๊าซสูง” นายสนธิรัตน์ กล่าว