โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ห่วงใยประชาชนช่วงมีฝนเสี่ยงโรคไข้มาลาเรียสายพันธุ์ “โนวไซ” แนะผู้ทำงานใกล้ชิดลิง หรืออาศัยอยู่แนวชายป่า ระวังยุงก้นปล่องกัด พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
วันนี้ (6 พ.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ เป็นตัวแปรสำคัญในการขยายพันธุ์ยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะไข้มาลาเรียสายพันธุ์ “โนวไซ” (Plasmodium knowlesi) ที่เป็นเชื้อติดต่อจากลิงสู่คนโดยมียุงก้นปล่องที่มีแหล่งอาศัยตามป่าเขาเป็นพาหะ โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถิติระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียชนิดดังกล่าวแล้วกว่า 70 ราย มีจำนวนสูงสุดในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง สงขลา และตราด โดยในเบื้องต้นแนะนำให้สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วย เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น หรือมีเหงื่อออกมากหลังกลับออกจากป่าหรืออยู่ใกล้ชิดลิง ให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อเจาะเลือดหาเชื้อมาลาเรียและแจ้งประวัติการเข้าป่า เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้การรายงานผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีผ่านระบบมาลาเรียออนไลน์แจ้งเตือนประชาชนเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมเชื้อ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยมาตรการ 1-3-7 คือ รายงานผู้ป่วย ภายใน 1 วัน ติดตามสอบสวนการป่วย ภายใน 3 วัน และดำเนินการควบคุมกำจัด การแพร่เชื้อโรคไข้มาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งประสานงานหน่วยงานระดับท้องถิ่นในการบูรณาการการทำงานในชุมชน ให้เกิดการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยและติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้มาลาเรียสายพันธุ์โนวไซอย่างต่อเนื่อง เร่งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแนวทางการป้องกันและรักษาโรคเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด พร้อมกำชับทุกฝ่ายประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนในทุกช่องทางเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยหรือทำงานอยู่ภายในป่า ชานป่า ในชุมชนติดภูเขา หรือเป็นผุ้ที่ทำงานใกล้ชิดกับลิง รวมถึงนักท่องเที่ยว ให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง และตรวจสอบอาการของตนเองหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยงอยู่เสมอ รวมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ช่วยกันดูแลสุขภาพของประชาชนในทุกช่วงสถานการณ์