นายกฯ ประชุม กพศ. เห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียง ศก.พิเศษ 4 ภาค ย้ำเร่งรัดพัฒนา ศก. สังคม ฟื้นฟูประเทศจากโควิด เน้นดำเนินงานตามแผน เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล
วันนี้ (5 พ.ค.) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตพร้อมเพรียงกันทุกภาค อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาฐานเศรษฐกิจในประเทศให้เจริญเติบโตและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย ขณะเดียวกัน ต้องเร่งหารายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น ควบคู่กับการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศให้เพิ่มขึ้นและทำให้ทุกพื้นที่มีการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ช่วยกันประสานงานขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานนำนโยบายแปลงไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ และให้มีการติดตามประเมินผลเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบรรลุเป้าหมายตามแผนที่กำหนดไว้ โดยย้ำเรื่องใดที่ติดขัดอุปสรรค ข้อกฎหมาย หรือกติกาในพื้นที่ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ
นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปหาแนวทางในการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแนวเส้นทางคมนาคมต่างๆ ที่มีศักยภาพ และตามแนวเส้นทางรถไฟต่างๆ มาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมไปถึงจะเป็นการกระจายความเจริญและกระจายคนจากเมืองใหญ่ไปสู่พื้นที่นอกเมืองและภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ โดยให้พิจารณาดำเนินการในพื้นที่มีศักยภาพและสามารถดำเนินการได้ให้ดำเนินการก่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ ขอให้มีการพัฒนาเตรียมแรงงานของประเทศและบริหารจัดการแรงงานทั้งในประเทศและแรงงานต่างประเทศให้เพียงพอ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค รวมไปถึงให้เร่งส่งเสริมขับเคลื่อนให้เกิดวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้ได้ตามศักยภาพที่แต่ละพื้นที่มีอยู่ โดยการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม และมีการดูแลเรื่องที่พักที่ปลอดภัยให้กับแรงงานเพื่อให้คนกลับไปทำงานในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ เกิดการสร้างงาน อาชีพ และรายได้ในพื้นที่ให้กับแรงงานในประเทศอันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ต้องมีการพัฒนาและใช้ศักยภาพแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์รวมถึงการดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลก โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการดำเนินการและคำนึงถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบายรัฐบาล พร้อมสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเข้มแข็ง และมีการพัฒนาด้านการตลาดที่ตอบสนองตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์เพื่อเพิ่มมูลค่าและจำหน่ายได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำการดำเนินงานต้องเป็นไปตามแผนและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทางกายภาพ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) การพัฒนาตามแนวชายแดน รวมทั้งการลงทุนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งต้องมีการวางแผนในระยะยาวสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้อย่างยืดหยุ่น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและสถานการณ์โลกได้ตลอดเวลา พร้อมกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และสร้างความร่วมมือระหว่างกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน โดยการดำเนินการต่างๆ ประชาชนต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด ควบคู่ไปกับการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางดิจิทัลออนไลน์ การสร้างสร้างอาชีพ พัฒนาแรงงาน ในพื้นที่เศรษฐกิจของแต่ละภาค รวมทั้งแนวชายแดน พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน ปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ
สำหรับที่ประชุม กพศ. มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญสรุปดังนี้
1. เห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค และให้นำเรื่องการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยกำหนดให้พื้นที่ (1) จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน (2) จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ (3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor : CWEC เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมเกษตรการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC และ (4) จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ กพศ. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการ เร่งพิจารณากำหนดกิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการลงทุนให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง และได้เห็นชอบให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามองค์ประกอบของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 5 ด้าน ประกอบด้วย (1) การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (3) การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ (4) การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ และ (5) การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับเขตตรวจราชการกำกับการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภาคตามองค์ประกอบดังกล่าว โดยให้นำความก้าวหน้าการดำเนินงานมารายงานต่อ กพศ. โดยเร็วต่อไป
2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์การยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากหนองคาย มุกดาหาร นครพนม และกาญจนบุรี จากเดิม ระยะเวลาสิ้นสุดภายในปี 2563 เป็น ให้สิ้นสุดภายในปี 2566 เพื่อเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยหากเอกชนลงทุนภายในปี 2565 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี และหากเอกชนลงทุนภายในปี 2566 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการเปิดประมูลที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย และมุกดาหารตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้
3. เห็นชอบการปรับปรุงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR - Map) จำนวน 10 เส้นทาง มีระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตรเพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและโครงการถนนสาย ทล. 2 - สถานีรถไฟนาทา อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และรองรับขนส่งสินค้าทางรถไฟ
4. เห็นชอบแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นการตลาด การประชาสัมพันธ์ และ Roadshow เพื่อสร้างโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกเผชิญกับความผันผวนและห่วงโซ่อุปทานเกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ให้สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนแล้วประมาณ 36,882 ล้านบาท โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2563-ปัจจุบัน) ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกิจการถุงมือยางและการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และภาครัฐได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 89 โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570 โดยโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ด่านพรมแดนแม่สอดแห่งที่ 2 อาคารท่าอากาศยานแม่สอด (เขตฯ ตาก) ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ (เขตฯ สงขลา) ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ (เขตฯ เชียงราย) นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (เขตฯ สระแก้ว) และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (เขตฯ สงขลา) เป็นต้น และกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินโครงการตามมติ กพศ. เช่น การก่อสร้าง ทล.3646 อ.อรัญประเทศ-ชายแดนไทย/กัมพูชา (บ.หนองเอี่ยน-สตึงบท) ช่วงแยก ทล.33 บรรจบ ทล.3586 ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร การก่อสร้างถนนแยก ทล.4-ด่านสะเดา แห่งที่ 2 การพัฒนาถนนเข้าพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและมุกดาหาร