xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กมหาดไทย” รับทราบยอดคนจน ทะลุ 647,139 ครัวเรือน เฉพาะรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3,200 มากกว่า 1.5 แสนครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดความคืบหน้า แก้ยากจนฉบับมหาดไทย หลังบิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก ขีดเส้น 1 ต.ค. ความยากจนจะหมดไป “ศพจ.” สรุปผล หลังใช้งบกลาง 100 ล้าน ลงพื้นที่ตลอด 2 เดือน พบชาวไทยทั่วประเทศ เข้าข่ายยากจน 647,139 ครัวเรือน “ตกหล่นในระบบ” 32,011 ครัวเรือน เผย 5 ปัญหายากจน หลังจำแนกก่อนเข้าช่วยเหลือตลอด พ.ค.- ก.ย. เฉพาะปัญหารายได้ พบ “ผู้สูงอายุ” ไร้อาชีพ/รายได้ มี 152,330 ครัวเรือน ส่วนครัวเรือนรายได้ต่อปีต่ำกว่า 3.8 หมื่น หรือ เดือนละ 3,200 บาท มากกว่า 158,300 ครัวเรือน

วันนี้ (3 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (2 พ.ค.) คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย จัดประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนพฤษภาคม 2565) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ มีวาระที่น่าสนใจ ที่ฝ่ายบริหารเน้นย้ำ โดยเฉพาะนโยบายการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) หลังลงพื้นที่สำรวจข้อมูลตลอดเดือน มี.ค.- เม.ย. 2565

เมื่อวานนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้าร่วมประชุมว่า ต้องกำชับนายอำเภอ นำข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform - TPMAP) มา บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหา

“พุ่งเป้าร่วมแก้ปัญหากับครัวเรือนเป้าหมาย ตามหลัก 4 ท ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก ทำให้ประชาชนรู้จักการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างอยู่รอด พอเพียง อย่างยั่งยืน ให้ประมวลผลรายงานความก้าวหน้าโครงการ และจำแนกแนวทางการแก้ปัญหา เข้าไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทันเวลา”

รมว.มหาดไทย บอกว่า จะนำปัญหาที่ผู้ว่าฯรายงาน เสนอ นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ กรมการปกครอง (ปค.) และกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ประสานกับ ศจพ. ซักซ้อมจากการประชุมมอบนโยบายใน 4 ภูมิภาคต่อจากนี้

“ขอให้ผู้ว่าฯ เร่งมีหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงฯ ต้นสังกัดของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบ ควบคู่กับการรายงานมายังกระทรวงมหาดไทยในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศจพ.”

วันเดียวกันนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้รายงานผลการลงพื้นที่ของ เจ้าหน้าที่ ศพจ.ทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไข”

เจ้าหน้าที่ ศพจ. สำรวจครัวเรือนในระบบ Logbook ทั้งหมด ณ วันที่ 30 เม.ย. 2565 พบครัวเรือนที่เข้าข่ายยากจน จำนวน 647,139 ครัวเรือน จากเป้าหมายตั้งต้น 619,111 ครัวเรือน

ศพจ .พบว่า ครัวเรือน ที่อยู่ใน “เป้าตั้งต้น” และมีการสำรวจปัญหาความยากจนและปัญหาอื่นๆ จำนวน 615,128 ครัวเรือน มีตัวเลขครัวเรือนที่ตกหล่น (Exclusion Error) จำนวน 32,011 ครัวเรือน

"ศพจ.จำแนกปัญหาของ 615,128 ครัวเรือน พบ เป็นสุขภาพ 149,143 ครัวเรือน ปัญหาความเป็นอยู่ 145,573 ครัวเรือนปัญหาการศึกษา 151,649 ครัวเรือน ปัญหารายได้ 319,248 ครัวเรือน และปัญหาการเข้าถึงบริหารภาครัฐ 2,268 ครัวเรือน"

จากการจำแนกปัญหาของศพจ. พบว่า จากปัญหาสุขภาพ เช่น เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ถึง 68,028 ครัวเรือน ไม่ได้ออกกำลังกาย ปัญหาความเป็นอยู่ พบ 90,999 ครัวเรือน ไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบ

ปัญหาด้านการศึกษา กว่า 74,363 ครัวเรือน คนอายุ 15-59 ปี เขียนภาษาไทยไม่ได้ กว่า 62,884 ครัวเรือน เด็กอายุ 6-14 ปีไมได้รับการศึกษา

ขณะที่ปัญหาด้านรายได้ พบว่า คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่มีอาชีพหรือรายได้ ถึง 152,330 ครัวเรือน และ ผู้มีรายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปีต่ำกว่า 38,000 บาท จำนวน 158,300 ครัวเรือน ส่วนปัญหาการเข้าถึงบริการภาครัฐ พบว่า ผู้สูงอายุ ไม่ได้รับการดูแล 2,039 ครัวเรือน

ทั้งนี้ หลังจากทำการวิเคราะห์สภาพปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไข จำแนกประเภทครัวเรือน โครงการ/กิจกรรม และบูรณาการแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ตลอดเดือนเมษายน ที่ผ่านมา จะเข้าสู่กระบวนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ระหว่าง วันที่ 1 พ.ค.-30 ก.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ที่รัฐบาลขีดเส้นเพื่อแก้ปัญหาคนจนให้หมดไป

สำหรับกระบวนการขับเคลื่อโครงการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565เป็น งบกลาง รายการเงินสไรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น จำนวน 99,528,500 บาท

เพื่อจัดตั้ง พี่เลี้ยง (ภาคประชาชน) ลงพื้นที่ติดตาม/ดูแลครัวเรือน จำนวน 7 วันๆ ละ 220 บาท และค่าประชุมสำหรับ ทีมปฏิบัติการฯ จำนวน 1 ครั้ง ประชุม ศจพ.อ. จำนวน 4 ครั้ง และประชุม ศจพ.จ. จำนวน 2 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณของ กรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 7,315,200 บาท เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงในการลงพื้นที่ติดตาม/ดูแลครัวเรือนของพัฒนาการอำเภอ และพัฒนากร จำนวน 6 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น