ศาลยกฟ้องชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดี “เสรีพิศุทธ์” ฟ้อง “ธนกร” หมิ่นประมาท ปมวิจารณ์ปราบบ่อนการพนันไม่สำเร็จตอนเป็น ผบ.ตร. ชี้ เป็นการใช้สิทธิตามปกติของผู้มีความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการทำงานของนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (29 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ ว่า “#ชนะอีกแล้ว ผมทำตามหน้าที่ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ เพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่เคยคิดร้ายใคร หรือมีอคติส่วนตัว ในทางการเมืองถ้าดูการทำงานของผมแล้วไม่ควรฟ้องร้องผมให้คดีรกศาลนะครับ
คดีของศาลอาญาตลิ่งชัน หมายเลขดำที่ อ.461/2564 ระหว่าง พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส โจทก์ กับ นายธนกร วังบุญคงชนะ จำเลย
ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในวันที่ 27 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น.
ศาลมีคำพิพากษา ยกฟ้องของโจทก์ โดยให้เหตุผลว่า
“พิเคราะห์แล้วที่โจทก์นำสืบว่าข้อความที่จำเลย ให้สัมภาษณ์หมายถึงโจทก์ไม่เคยคิดจะทำงานเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดีแต่คุยโม้โอ้อวดไปวันๆ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ทำงาน หากทำงานก็ไม่เคยสำเร็จ ไม่กล้าจะลงโทษผู้กระทำผิด อย่างเด็ดขาด และที่ผ่านมาในอดีตขณะที่โจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้ปราบปรามบ่อนการพนันอย่างจริงจัง
เห็นว่า การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดที่จะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนต้องทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการรับรู้ ความเข้าใจ และความรู้สึกต่อถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปเป็นเกณฑ์ มิใช่การพิจารณาความรู้สึกของผู้ถูกกล่าวเป็นสำคัญ
ได้ความว่า โจทก์และจำเลย ต่างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดคนละพรรคการเมือง จึงอาจมีแนวคิดอุดมการณ์หรือนโยบายแตกต่างกัน การแสดงความคิดเห็นต่อผลงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจึงอาจเป็นเชิงตำหนิหรือสนับสนุนก็ได้ เห็นได้จากการที่โจทก์โพสต์ข้อความในบัญชี Facebook เรื่องบ่อนการพนันที่นายกรัฐมนตรีประสบปัญหาการป้องกันปราบปรามในลักษณะวิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรี ว่า แก้ไขปัญหาไม่ได้ การที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นการตอบโต้ข้อความที่โจทก์โพสต์วิจารณ์โดยมีการเปรียบเทียบกับการทำงานของโจทก์ในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการพนันเช่นกัน จึงเป็นเพียงการแสดงให้เห็นสภาพปัญหาการปราบปรามบ่อนการพนันที่สะสมมีมานานตั้งแต่สมัยที่โจทก์ยังทำงานเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและยังแก้ไขไม่ได้จนถึงปัจจุบันเท่านั้น นอกจากนี้ ข้อความที่ปรากฏในข่าวตามเอกสารหมาย จ.9 และ 10 จำเลยไม่ได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายในทำนองดูหมิ่นเกลียดหรือยืนยันข้อเท็จจริงว่าในอดีตโจทก์ไม่ได้ทำงานจริงจังอย่างที่โจทก์เข้าใจ หากแต่เป็นการตีความโดยโจทก์เอง ข้อความที่จำเลยกล่าวต่อสื่อมวลชนซึ่งนำไปลง จึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติของผู้มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เกี่ยวกับการทำงานของนายกรัฐมนตรี มีลักษณะเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใส่ความโจทก์อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือ ดูหมิ่นโดยการโฆษณาได้ คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล”