กมธ.วิสามัญกฎหมายลูก เคาะแก้มาตรา 12 ร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส. เพิ่มคำจาก “บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง” เป็น “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” หวังครอบคลุม-ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่มาตรา 13 ปมวิธีลงคะแนนยังไม่ได้ข้อยุติ
วันนี้ (27 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... แถลงภายหลังการประชุม กมธ.วิสามัญฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา ในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 12 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง ส.ส.โดยที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นความหมายของคำว่า “บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง” ตามร่างมาตรานี้ว่ามีความหมายเพียงใด และครอบคลุมคำว่า “พรรคการเมือง” หรือไม่ โดยที่ประชุมมีความเห็นชอบควรเพิ่มคำว่า “หรือพรรคการเมืองใด” ต่อท้ายคำว่า “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” เป็น “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือพรรคการเมืองใด” เพื่อให้ความในร่างมาตรานี้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 12 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เพิ่มเติมคำว่า “หรือพรรคการเมืองใด” ต่อท้ายคำว่า “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” จะมีนัยยะส่งผลต่อการปฏิบัติใดบ้างในอนาคต นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นความชัดเจนถึงผู้กระทำผิดว่าเป็นบุคคลของพรรคการเมือง หรือเป็นตัวพรรคการเมืองเอง เพราะคำว่าบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง อาจหมายถึงแค่คนๆเดียว ไม่ได้หมายถึงทุกคนที่เป็นบัญชีรายชื่อ หรือไม่ได้เป็นนโยบายของพรรคที่จะกระทำการทุจริต กมธ.วิสามัญฯ จึงมีความเห็นว่าเพื่อความชัดเจนว่าใครผิดมาตรานี้ จึงแยกระหว่างผู้สมัครเขต ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมือง ส่วนประเด็นการเปิดช่องเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้น กฎหมายเลือกตั้งมีโทษในตัวของมันเอง ไม่ใช่โทษการยุบพรรค แต่เป็นโทษใบแดง ใบเหลือง และใบส้ม ฉะนั้น จึงไม่ร่วมเรื่องคดีทางการเมืองหรือการยุบพรรคแต่อย่างใด
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 13 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ที่ประชุมพิจารณาประเด็นออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีอื่น ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ กมธ.วิสามัญฯมีความเห็นเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการกำหนดเรื่องการออกเสียงด้วยวิธีการลงคะแนนด้วยวิธีการอื่น นอกจากการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง อาจขัดหรือแย้งต่อมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ เช่น การลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบออนไลน์ ตอนนี้กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าถ้ายืนตามร่างที่ไม่มีการแก้ไข คือร่างเก่าจะมีการเขียนว่าการลงคะแนนสามารถทำโดยวิธีบัตรหรือวิธีการอื่นๆ ก็ได้ ตามที่ กกต.กำหนด แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้กำหนดไว้ว่าต้องใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเท่านั้น จึงทำให้ติดขัดในการพัฒนาระบบการลงคะแนนด้วยวิธีอื่นๆ อยู่ที่ว่าถ้าเรายอมรับข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีแค่บัตรที่เป็นกระดาษเท่านั้น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขอให้มีการตีความรัฐธรรมนูญว่าบัตรเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนไปเป็นวิธีอื่นได้ กมธ.วิสามัญฯ ก็จะพิจารณาให้มีวิธีอื่นอยู่ในร่างของกฎหมาย ส่วนฝ่ายที่สองเห็นว่าการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีการอื่นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ทั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่ได้มีข้อยุติในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติในการประชุมครั้งต่อไป
เมื่อถามว่า ในประเด็นแก้ไขมาตรา 13 ได้มีการพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญโดยการใช้การตีความอย่างแคบของบัตรเลือกตั้งหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า จะเรียกว่าแคบก็ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะค่อนข้างตรงไปตรงมา เนื่องจากมีการพูดถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วยว่าเป็นอย่างไรกันแน่ แต่เมื่อเป็นการพูดแบบตรงตัวตามอักษรจะเรียกว่าแคบก็ได้ คือกลายเป็นเรื่องของบัตรเท่านั้น ซึ่งร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของ นายวิเชียร ชวลิต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ร่างของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และร่างของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตัดเอาเรื่องวิธีอื่นใดออกไปหมด จึงทำให้ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะพิจารณาอย่างไร
เมื่อถามว่า แนวโน้มจะเป็นไปอย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะถ้าเราเห็นแก่การพัฒนาระบบการเลือกตั้ง เราก็จะขอให้มีการแก้ไขไปเป็นร่างปี 62 แต่ถ้าเราเห็นว่าอยากจะรอบคอบ ไม่ให้มีการตีความหรือส่งกลับของศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะต้องยืนเรื่องการตัดเอาวิธีอื่นออก
เมื่อถามว่า ในกรณีที่กังวลว่าจะถูกส่งตีความในแนวทางที่อาจจะต้องยืนตามร่างหลัก มองว่า จะมีผลกระทบในอนาคตต่อการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหน นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ความคิดเห็นส่วนตัวประเด็นแรกในร่างกฎหมายต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีคนร้องหรือไม่ ดังนั้นเราก็พยายามลดทอนปัญหา ตนจึงไม่คิดว่ามันจะเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงอะไร แต่ในด้านการปฏิบัติการลงคะแนนด้วยวิธีอื่น เช่น การลงคะแนนด้วยวิธีให้ความเห็นถือว่ามีความพร้อมน้อยมาก เพราะมีจำนวนเครื่องที่น้อยมาก และยังไม่ใช่ระบบออนไลน์ อีกทั้งการออกแบบเครื่องการเปลี่ยนไปตามบัตรเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่ได้เป็นดิจิตัลของแท้ที่สามารถโหวตด้วยสมาร์ทโฟน หรือระบบออนไลน์อินเทอร์เน็ตได้ และยังไม่มีความเชื่อใจด้วยว่าประชาชนที่โหวตด้วยสมาร์ทโฟนจะไม่ให้คนอื่นโหวตให้หรือด้วยระบบยืนยันตัวตน ตนจึงคิดว่าประเทศไทยยังค่อนข้างไกลอยู่สำหรับการเลือกตั้งด้วยวิธีอื่น