โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ ห่วงใยประชาชน 8 จังหวัดริมน้ำโขง กำชับแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลันช่วง 22-29 เมษายน 65 นี้
วันนี้ (23 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดบริเวณริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ระดับน้ำที่สถานีเขื่อนจิ่งหง ประเทศจีน เพิ่มขึ้นสะสมอย่างต่อเนื่อง จากวันที่ 18 – 21 เมษายน 2565 ประมาณ 2.00 เมตร หรืออัตราการระบายน้ำสะสม 1,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมาจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้นและมีฝนตกบริเวณท้ายเขื่อน โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากสถานการณ์ดังกล่าว คาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงวันที่ 22 – 29 เมษายน 2565 โดยช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) บริเวณสถานีเชียงแสน จ.เชียงราย ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสมในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 1.90 – 2.00 เมตร และช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว บริเวณตั้งแต่สถานีเชียงคาน จ.เลย ลงมาถึงสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 0.50 เมตร ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมกำชับให้ กอนช. ประสาน บูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดบริเวณริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัดอย่างใกล้ชิด
นายธนกร กล่าวต่อว่า ขณะที่สำนักวิจัย พัฒนา และอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 เวลา 07.00 น. ระดับน้ำสถานีอุทกวิทยาแม่น้ำโขงในลุ่มน้ำโขงตอนล่างของกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นสถานีในเครือข่ายสถานีอุตุ-อุทกวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Hydrological Cycle Observation System : Mekong-HYCOS) จำนวน 6 สถานี ระดับน้ำทุกสถานีสูงกว่าค่าปกติ น้ำท่าอยู่ในเกณฑ์น้ำปกติ น้ำน้อยเฝ้าระวัง และน้ำน้อยวิกฤต ได้แก่ 1. สถานีเชียงแสนอ.เชียงแสน จ.เชียงราย น้ำน้อยเฝ้าระวัง แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 2. สถานีเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย น้ำปกติ แนวโน้มเพิ่มขึ้น 3. สถานีหนองคาย อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย น้ำน้อยเฝ้าระวัง แนวโน้มเพิ่มขึ้น 4. สถานีนครพนม อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม น้ำน้อยวิกฤต แนวโน้มลดลง 5. สถานีมุกดาหาร อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร น้ำน้อยวิกฤต แนวโน้มลดลง และ 6. สถานีโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี น้ำน้อยเฝ้าระวัง แนวโน้มลดลง
“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ กอนช. ประสานและบูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดบริเวณริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด และให้เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง รวมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ติดตามระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น พืชผลทางการเกษตร เครื่องมือและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพอาจได้รับความเสียหายได้ รวมถึงเรือที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงเวลาดังกล่าว” นายธนกร กล่าว