วันนี้ (18 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.40 น. ที่สำนักงาน ก.พ.เดิม นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคากว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา ว่า จากการทำงานของตนที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่แก้ไขปัญหาสลากเกินราคา เราต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาคาราคาซังมาหลายยุคสมัย และวันนี้เป็นคณะกรรมการชุดเราที่ดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการได้เริ่มทำงานตั้งแต่เดือน ก.พ.จนถึงวันนี้ประชุมกันอย่างไม่รู้หยุดเพื่อหาข้อเท็จจริง หาแนวทางต่างๆ เพื่อให้เกิดการควบคุมราคา โดยใช้รูปแบบทั้งการปรับเทคโนโลยีและการควบคุมกฎหมาย ซึ่งมติที่ประชุมในวันนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ที่มี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 27 เม.ย.นี้
ด้าน พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันวันนี้ 1. การคัดสรรผู้ค้านอกระบบ โดยจากการสำรวจ 1 เดือน ที่ผ่านมา พบผู้ค้าทั้งหมดโดยแบ่งเป็นผู้ค้าในระบบ 3,000 กว่าราย และผู้ค้านอกระบบ 4,367 ราย โดยในกลุ่มนี้ไม่มีสลากเป็นของตนเองทั้งระบบซื้อจองหรือโควตา เขาใช้วิธีไปซื้อสลากมาขายต่อจึงต้องขายในราคาเกินกว่ากำหนด มติของที่ประชุมจึงจะนำรายชื้อผู้ค้านอกระบบทั้งหมดให้คณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบอร์ดกองสลากให้ผู้ค้ากลุ่มนี้ได้รับสิทธิโควตากองสลาก เพื่อได้สลากในราคาต้นทุน ซึ่งจะยังมีข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆ คาดว่า กว่าจะถึงวันเสนอชื่อจะมีเป็นหมื่นราย 2. การจำหน่ายโครงการสลาก 80 บาท 1,000 จุดทั่วประเทศ ที่ในส่วนของระดับอำเภอยังขาดผู้สมัครอยู่ ซึ่งสลากได้เดินทางไปแล้วทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังไม่ครบทุกอำเภอ ขณะนี้ขาดกว่า 300 กว่าอำเภอ จาก 900 กว่าอำเภอทั่วประเทศ ที่ประชุมจึงมีมติว่าตามโครงการเดิมเราใช้รูปแบบให้สิทธิ์แก่ตัวแทนสมัครเข้ามา แต่เมื่อตัวแทนไม่สมัครเราจะขยับไปให้สิทธิ์ผู้ซื้อจอง แต่หากผู้ซื้อจองไม่สมัครก็เป็นผู้ค้านอกระบบ
พันโท หนุน กล่าวอีกว่า และ 3. วันนี้ตนได้มาเสนอความคืบหน้าในโครงการที่ดำเนินการมาแล้ว เช่น โครงการผู้ลงทะเบียนในส่วนซื้อจองปี 2558 ที่มียอดทั้งสิ้น 1.2 แสนกว่าราย ที่ทางสำนักงานกองสลากให้ทดลองสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงสมัครขายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงิน ซึ่งจากตัวเลข 1.2 แสนราย เขาไปใช้สิทธิดึงคิวอาร์โค้ดของตัวเองจากระบบ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ 60,000 กว่าราย หรือคิดเป็น 50% รวมทั้งไปสมัครแอปพลิเคชันถุงเงินอีก 80,000 กว่าราย หรือคิดเป็น 67% ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ขายเริ่มมีความตื่นตัวสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้
“1 เดือนที่ผ่านมา มีการรายงานการสแกนคิวอาร์โค้ดที่แผงจุดขาย ซึ่งสำนักงานสลากฯได้เก็บข้อมูลไว้ 3 ล้านกว่าครั้ง คิดเป็น 53,000 กว่ารายที่ซื้อสลากได้ในราคา 80 บาท นี่เป็นตัวเลขยืนยันว่า ที่ผ่านมา มีสลาก 80 บาท และมีตัวเลขอย่างน้อยที่เก็บได้ 53,000 กว่ารายทั่วประเทศ ขณะที่ในเรื่องของแพลตฟอร์มเราจะเริ่มในงวดวันที่ 16 มิ.ย.” พันโท หนุน กล่าว