xs
xsm
sm
md
lg

มกอช. ขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับสินค้าเกษตรไทยได้มาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มกอช. ขับเคลื่อนภารกิจตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551 ยกระดับสินค้าเกษตรไทยได้มาตรฐาน ความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการค้าสินค้าเกษตรหรือเศรษฐกิจของประเทศ

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าแพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย เมื่อปี 2551 สืบเนื่องจากสินค้าเกษตรหลายชนิดทั้งที่ผลิตขึ้นในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีมาตรฐานใช้บังคับ เป็นเหตุให้สินค้าเกษตรด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประชาชนขาดความเชื่อถือ และส่งผลลกระทบต่อการประกอบกิจการค้าสินค้าเกษตรของไทย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม จึงสมควรให้มีกลไกในการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการค้าสินค้าเกษตรหรือเศรษฐกิจของประเทศ

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย
1) การกำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานและมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมและดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตร


2) การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) แบ่งเป็น มาตรฐานบังคับ และมาตรฐานทั่วไป โดยปัจจุบัน มกอช. ได้มีการกำหนดมาตรฐานบังคับแล้ว จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ 1) หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มกษ. 1004-2557 2) เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน มกษ. 4702-2557 3) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค มกษ. 7432-2558 4) การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก มกษ. 9046-2560 5) การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ มกษ. 6401-2558 6) หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด มกษ. 2507-2559 และ 7) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ มกษ. 6909-2562 และมีการกำหนดมาตรฐานทั่วไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 383 เรื่อง แบ่งเป็น มาตรฐานสินค้า 131 เรื่อง มาตรฐานระบบ 149 เรื่อง และมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป 58 เรื่อง

3) ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า สินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ โดยในกรณีที่มีกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับสำหรับสินค้าเกษตรใด ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต จาก มกอช. หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ได้รับมอบหมาย


4) การตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน ในกรณีที่สินค้าเกษตรใดเป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า จะต้องขอรับการตรวจสอบรับรองจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (หน่วยตรวจสอบรับรองของรัฐ/เอกชน) ส่วนกรณีสินค้าเกษตรตามมาตรฐานทั่วไป ผู้ผลิตจะขอรับการตรวจสอบรับรองหรือไม่ก็ได้ ตามความสมัครใจ
5) การประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน หน่วยตรวจสอบรับรองภาคเอกชนที่มีความสามารถ มีการจัดองค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และประสงค์จะทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร จะต้องขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน

6) การควบคุม กฎหมายได้สร้างกลไกการควบคุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรทั้งระบบ เช่น ผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย รวมถึงผู้ขนส่งสินค้าเกษตร ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าสินค้าเกษตรมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบรับรอง


7) เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ซึ่งสินค้าเกษตรที่ผ่านการตรวจสอบรับรองแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายรับรองตามที่กฎหมายกำหนด โดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน แบ่งออกเป็น 1. เครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ 2. เครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป และ 3.เครื่องหมายรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
8) การอุทธรณ์ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการเป็นหนังสือได้ โดยยื่นเป็นหนังสือต่อสำนักงานภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง
9) บทกำหนดโทษ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายกำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามแต่กรณี

“มาตรฐานสินค้าเกษตร จะช่วยสร้างกลไกสำคัญในการพัฒนา เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งสินค้าเกษตรด้านพืช ปศุสัตว์ และสินค้าประมง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตรและกิจกรรมต่อเนื่องที่ไม่มีกฎหมายอื่นใช้บังคับ ตั้งแต่ระดับฟาร์ม การแปรรูป การขนส่ง และการจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้ประเทศผู้นำเข้าเกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ปกป้องผลประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในเวทีการค้าโลก รวมทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค และคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าเกษตรที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ปลอดภัยอีกด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น