โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ สั่งการดูแลกลุ่ม 608 อย่างใกล้ชิด แจง ศบค. ยังไม่มีการอนุมัติการจัดหายาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว หรือ LAAB สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ย้ำ รอผลการศึกษาความคุ้มค่า-ผล ที่จะเกิดขึ้นจาก สธ. ก่อน
วันนี้ (11 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 ที่ปรากฏความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในเรื่องแผนการจัดหา Long-acting antibody (LAAB) ใน 2 ประเด็น โดยชี้แจงว่า 1) LAAB ไม่ได้ใช้ทดแทนวัคซีน แต่จะใช้เสริมให้กับกลุ่มที่ภูมิต่ำ หรือภูมิไม่ขึ้น หลังฉีดวัคซีน โดยวัคซีนยังคงเป็นตัวหลักในการควบคุมโรคในปัจจุบัน 2) การจัดหา LAAB ยังต้องรอผลการศึกษาความคุ้มค่าและผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน จึงจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายธนกร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยเรื่องการเสียชีวิตในกลุ่ม 608 โดยได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลกลุ่ม 608 อย่างใกล้ชิด พร้อมกับขอให้กระทรวงมหาดไทยติดตามและดูแลการปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้โรงพยาบาลพิจารณาปรับแนวทางการดูแลกลุ่ม 608 เพราะการเข้าระบบ HI หรือ เจอ แจก จบ อาจมีความเสี่ยงสูงสำหรับกลุ่มนี้
“ยืนยันว่า ที่ประชุม ศบค. ยังไม่มีการอนุมัติหรือเห็นชอบการจัดหายาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว หรือ LAAB สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข กลับไปศึกษาและจัดทำรายละเอียดให้รอบด้าน ก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุม ศบค. อีกครั้ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องการเสียชีวิตในกลุ่ม 608 เน้นย้ำขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ร่วมกันประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว ให้พากลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น เพราะวัคซีนเท่านั้นที่จะช่วยลดการเสียชีวิตได้มากที่สุด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว