“ส.ว.คำนูณ” ตั้งข้อสังเกต กระทรวงยุติธรรม เร่งคลอด กม.ป้องกันทำผิดซ้ำ เร็วผิดปกติ แค่ 10 เดือน ใกล้ผ่าน 2 สภา แม้มีประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือหลักสิทธิมนุษยชน กฤษฎีกาคัดค้าน 2 รอบ ไร้ผล ชี้ ย้อนแย้งหรือไม่ ออกมาตรการพิเศษมาใช้บังคับ แต่การจำคุกแบบเดิมกลับได้อภัยโทษสุดซอย
วันนี้ (5 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn เกี่ยวกับความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ…. หรือที่เรียกว่า กฎหมายฉีดให้ฝ่อ มีรายละเอียดว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. แม้จะมีข้ออภิปรายโต้แย้งกันหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ความชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อย้อนดูเส้นทางเดินทั้งในส่วนของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วต้องบอกว่า
เร็วมากถึงเร็วที่สุด !
เรียกว่าขึ้นทางด่วนพิเศษรวดเดียวเกือบจบ !!
- 8 กรกฎาคม 2564 กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างฯต่อคณะรัฐมนตรี
- 9 กรกฎาคม 2564 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือถึงส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
- 16 กรกฎาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการตรากฎหมายใหม่
- 3 สิงหาคม 2564 คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างฯ
- 4 สิงหาคม 2564 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งกฤษฎีกาตรวจร่างฯ
- 2 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงยุติธรรมทำหนังสือเร่งไปยังกฤษฎีกา
- 9 ธันวาคม 2564 กฤษฎีกาส่งร่างฯที่ตรวจแล้วกลับ ครม. พร้อมแจ้งข้อสังเกต 3 ประการ จากกฤษฎีกาคณะ 11 ในเชิงไม่เห็นด้วย
- 2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการวาระแรก
- 3 กุมภาพันธ์ 2565 ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯนัดแรก และประชุมทั้งหมดรวม 5 ครั้ง
- 14 กุมภาพันธ์ 2565 ประธานคณะกรรมาธิการส่งร่างฯที่พิจารณาแล้วเสร็จถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร
- 23 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติวาระ 3
- 28 กุมภาพันธ์ 2565 วุฒิสภาอนุมัติวาระแรก
ตามไทม์ไลน์นี้มีข้อสังเกตเบื้องต้น 2 ประการ
ประการแรก - สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือเสนอความเห็นเชิงคัดค้านต่อการตราร่างกฎหมายใหม่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่ได้รับร่างฯจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และครั้งที่ 2 เมื่อตรวจร่างฯเสร็จส่งกลับคณะรัฐมนตรี
แต่ไร้ผล !
ไม่มีบันทึกว่าคณะรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไรต่อความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นอกจากนั้น ความเห็นจากกฤษฎีกาทั้ง 2 ครั้งยังแทบไม่ได้รับการนำไปตั้งประเด็นอภิปรายในสภาผู้แทนราษฏรเลยไม่ว่าในวาระใด เพิ่งจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของวุฒิสภา
ความเห็นของกฤษฎีกาครั้งที่ 2 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 หลังตรวจร่าง เคยนำมาลงให้ดูกัน ณ ที่นี้แล้ว ขอนำมาลงซ้ำให้ดูกันอีกครั้ง ส่วนความเห็นครั้งที่ 1 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน มานำมาลงให้ดูกัน ณ ที่นี้
ประการต่อมา - ร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลาพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร 5 ครั้งภายในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์เท่านั้น
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีจุดเริ่มต้นเสนอมาจากกระทรวงยุติธรรม
เป็นมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการกระทำผิดซ้ำสำหรับบุคคลผู้กระทำความผิดทางเพศและความผิดอาญาร้ายแรงจำนวนหนึ่งที่ระบุไว้ นักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจกระทำความผิดซ้ำอีก จะต้องเข้าสู่มาตรการเฝ้าระวังที่มีอยู่ 3 ระดับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรือสูงสุดรวมทุกมาตรการแล้วไม่เกิน 10 ปี
หนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังนี้มีการ ‘คุมขัง’ และ ‘คุมขังฉุกเฉิน’ รวมอยู่ด้วย
‘คุมขัง’ เป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้ในร่างกฎหมายนี้ จงใจให้แตกต่างกับคำ ‘จำคุก’ ‘กักขัง’ และ ‘กักกัน’ ตามประมวลกฎหมายอาญา
เพื่อไม่ให้เป็นโทษทางอาญา
เมื่อเขียนไม่ให้เป็นโทษทางอาญาเสียแล้ว ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลังสำหรับคดีที่กำลังพิจารณาอยู่และนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ได้
แต่แม้จะระบุว่าไม่ใช่โทษทางอาญา ก็ต้องยอมรับว่ามีความละม้ายกันอยู่ในที คือ เป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคล จำกัดเสรีภาพของบุคคลที่เป็นนักโทษเด็ดขาดทางอาญาที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจจะกระทำความผิดซ้ำ นานาชาติเขาจะยอมรับในตรรกะของเราหรือไม่
ผมจึงตั้งคำถามดังๆ มาก่อนหน้านี้แล้วในโพสต์แรกๆ ที่เล่าถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า…
“จะเป็นการย้อนแย้งหรือไม่ที่เรากำลังมาสร้างมาตรการพิเศษใหม่ต่างๆ รวมถึง ‘คุมขัง’ หลังพ้นโทษ ทั้งๆ ที่มาตรการ ‘จำคุก’ เดิมมีปัญหา หลายกรณีนักโทษเด็ดขาดถูกจำคุกจริงไม่ถึง 1 ใน 3 ของคำพิพากษาก็ถูกปล่อยตัวพ้นโทษไป สมควรแก้ไขปัญหาหลักที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นบังคับโทษที่ผิดเพี้ยนเห็นตำตาในขณะนี้เสียก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อมๆ กันไป”
ใช่หรือไม่ว่าหากร่างกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และมาตรการอภัยโทษสุดซอยยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ชัดเจน ตอบข้อกังขาของสังคมได้หมดจด จะเกิดคำอธิบายใหม่ตามมาว่าไม่ต้องห่วง เพราะแม้นักโทษจะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ ก็จะยังมีมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำมาใช้บังคับได้อีกไม่เกิน 10 ปี ?
ใช่หรือไม่ว่าร่างกฎหมายใหม่กลายเป็นคำตอบใหม่ให้กับความย้อนแย้งเดิมในกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและตอบโจทย์ได้ครบถ้วนรอบด้านชัดเจน ??
ไม่ว่าจะอย่างไร ร่างกฎหมายป้องกันการกระทำผิดซ้ำก็อยู่ในการพิจารณาขั้นกรรมาธิการของวุฒิสภาแล้ว จะเริ่มพิจารณารายมาตราในสัปดาห์นี้ หลังจากเชิญหน่วยราชการและนักวิชาการมาประชุมร่วมกัน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในชั้นนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการที่จะต้องพิจารณาตอบโจทย์ให้ครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างน้อยใน 3 ประเด็นใหญ่
- ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
- สมควรบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ ?
- แก้ปัญหาเดิมหรือเพิ่มปัญหาใหม่ ?
และสมาชิกวุฒิสภาทุกคนในฐานะสภากลั่นกรองจะต้องร่วมกันตัดสินใจวาระ 2 และ 3 ต่อไป
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
5 เมษายน 2565