การเคหะแห่งชาติ ปลื้มผลตอบรับ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1” สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปั้น “โครงการเกษตรอาสาพอเพียง” และ “กลุ่มคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อสวัสดิการชุมชน” หวังเป็นต้นแบบต่อยอดสู่โครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ ในอนาคต
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่าการเคหะแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย หนึ่งในโครงการที่ถือเป็นแม่แบบของการพัฒนา การจัดการชุมชน และมีส่วนกลางที่น่าอยู่อาศัย ต้องยกให้กับ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคารแปลง A1 และแปลง D1 โดยเร่งดำเนินการด้วยการนำเทคโนโลยีในการก่อสร้างมาทดแทนแรงงาน คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 2 โครงการฯ ภายในปี 2566
นายทวีพงษ์กล่าวว่า แฟลตดินแดงเป็นโครงการที่การเคหะแห่งชาติ ดูแลบริหารจัดการมาอย่างยาวนาน โดย ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 - 2567) ให้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชุมชนดินแดง (แฟลตดินแดง) ซึ่งเดิมเป็นอาคาร 5 ชั้น 64 อาคาร มีความเก่าแก่ ทรุดโทรม และไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีอายุการใช้งานมากว่า 56 ปี ให้กลายเป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ด้วยการก่อสร้างโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G เป็นอาคารแรก จำนวน 334 หน่วย เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม อาคารแฟลตที่ 18-22 และขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างโครการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร A1 และอาคาร D1 จำนวน 1,247 หน่วย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2466
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า จากภารกิจของการเคหะแห่งชาติ ที่นอกเหนือจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางแล้ว ยังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ทำให้การก่อสร้างอาคาร G ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดสูง จะมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างเหมาะสม ในขนาดห้องพัก 33 ตร.ม. โดยแบ่งออกเป็น 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ พร้อมระเบียง โซนห้องรับแขก และห้องครัว พร้อมสิ่งอำนวยความดวกครบครัน ตอบโจทย์วิถีการดำเนินชีวิตของคนดินแดง
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สวนหย่อม พื้นที่สันทนาการ ศูนย์สุขภาพ รวมถึงดาดฟ้าของโครงการจัดให้เป็นที่ปลูกแปลงผัก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้วิถีชีวิตของคนดินแดงเปลี่ยนไป นอกจากสามารถนำผักที่ปลูกมาบริโภคแล้ว ยังสามารถนำมาจำหน่าย โดยนำรายได้ 60 เปอร์เซนต์ มาเป็นค่าแรงให้กับคนที่ทำหน้าที่ดูแลแปลงผัก ส่วนอีก 40 เปอร์เซนต์ นำมาซื้อเมล็ดพันธุ์เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดโครงการต่อไป ผู้ร่วมโครงการส่วนใหญ่แป็นผู้สูงอายุ ที่พักอยู่ในอาคารแปลง G ที่ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ซึ่งประโยชน์ที่ได้อย่างชัดเจนนอกจากสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนแล้ว ยังตอบโจทย์เป้าหมายของการเคหะแห่งชาติในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผุ้อยู่อาศัยในชุมชนอีกด้วย
“จากการพูดคุยกับระชาชนที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่อาคารแปลง G ทุกคนรู้สึกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรู้สึกว่าเมื่อย้ายเข้ามาที่อาคารนี้แล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนภาพไปจากเดิมที่เป็นเหมือนชุมชนแออัด มีสภาพที่ไม่ค่อยเรียบร้อย มาเป็นอาคารที่สูงขึ้น แม้จะส่งผลให้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เขาได้คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เขารู้สึกมีความสุขมากยิ่งขึ้น” นายทวีพงษ์ กล่าว
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ขยายความว่า การปลูกแปลงผักชั้นดาดฟ้าของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) หรือ “โครงการเกษตรอาสาพอเพียง” ถือเป็นโครงการต้นแบบที่การเคหะแห่งชาติพัฒนาขึ้น โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งจากนี้จะนำไปดำเนินการในอาคารอื่นๆ ของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงในระยะต่อไป รวมถึงพัฒนาเป็น “โครงการต้นแบบ” ที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดในโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ ของการเคหะแห่งชาติ
“การปลูกแปลงผักบนชั้นดาดฟ้าที่เราพัฒนาขึ้นนี้ ถือเป็นการทำงานที่ไม่เหมือนคนอื่น เป็นการทำงานที่ทำร่วมกันในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้คนในชุมชนสามารถลุกขึ้นมาดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งบางคนยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพของเขาได้ โดยเป้าหมายที่การเคหะแห่งชาติมุ่งเน้นคือ การสร้างอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง” นายทวีพงษ์ กล่าว
อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 เพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยจากชุมชนในแต่ละวันซึ่งมีปริมาณมากถึง 36 ตัน ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก คือ การจัดตั้ง กลุ่มคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อสวัสดิการชุมชน ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 คน โดยได้รับความร่วมมือจากลูกบ้านเป็นอย่างดี โดยลูกบ้านจะร่วมกันนำขยะมาให้สมาชิกช่วยกันคัดแยก หลังคัดแยกเสร็จ สมาชิกจะเก็บไว้ขายเดือนละครั้ง โดยแบ่งรายได้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำเข้ากองกลางเพื่อซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ถุงมือ เจลแอลกอฮอล์ และเก็บไว้เป็นสวัสดิการชุมชน อีกส่วนที่เหลือก็จะนำไปปันผลให้กับสมาชิก
“กิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่การเคหะแห่งชาติสนับสนุนนั้น มาจากความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นสำคัญ สำหรับโครงการคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อสวัสดิการชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของมิติใหม่ในการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกๆ มิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะยาว” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าว