เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน ก็จะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ที่ชาวกรุงเทพฯ จดจ่อรอคอยมานานถึง 9 ปี! เวทีศึกชิงผู้ว่าฯ รอบนี้ ต้องเรียกว่าเดือด! เมื่อเปิดโฉมแคนดิเดดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาแต่ละนาม ล้วนแต่โปรไฟล์ไม่ธรรมดา
สำหรับตัวเก็งที่ออร่าพุ่งแรงแซงทุกโค้งตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวเป็นทางการ จะเป็นใครไปไม่ได้ นั่นคือ ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ที่สปอร์ตไลท์ฉายส่องทุกย่างก้าว ติดเบอร์ 8 พร้อมลั่นกลองชิงชัย
และยิ่งต้องว้าวกันเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปิดตัวทีมนโยบายที่นำโดย “ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ที่เข้ามาเสริมทัพสร้างกรุงเทพฯ ภายใต้สโลแกน “ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
ดร.ยุ้ย นอกจากทำแผนนโยบาย ยังร่วมกับทีมเดินสายหาเสียงตามชุมชนในกรุงเทพ และขึ้นเวทีต่างๆ เพื่อสื่อสารแจกแจงนโยบายสำคัญของทีม ล่าสุดเป็นตัวแทนทีมชัชชาติ ขึ้นพูดบนเวทีเสวนา “ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ที่ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ อาคารบี ไทยพีบีเอส
ข้อมูลบนเวทีจาก “ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดข้อเท็จจริงที่น่าตระหนกว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงศูนย์กลางของทุกความทันสมัย กลับเกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาสูงที่สุดในประเทศ เป็นเมืองที่ครอบครัวมีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด จนเกิดความเหลื่อมล้ำทำให้เด็กจำนวนมากขาดโอกาสทางการศึกษา
ดร.ยุ้ย กล่าวบนเวทีว่า ภายหลังจากฟังตัวแทนจากภาคต่างๆ บนเวทีแล้ว รู้สึกมีความหวังที่เรามีภาคประชาชนที่มีจิตใจพร้อมให้ความช่วยเหลือเด็กในชุมชน ซึ่งหากมีคนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูจากภาคประชาชนแบบนี้อยู่ในทุกชุมชนใน กทม. ก็มีความหวังในการแก้ไขปัญหา เพราะตนเองมองว่าความเป็นครูสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ขอเพียงเรามีงบประมาณที่พอเพียง มีภาค กทม.ที่พยามยามจะเข้าใจ และให้ความร่วมมือ โดยไม่ต้องมีเอกสาร หรือ KPI มากมาย เท่านี้ก็เพียงพอที่จะลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้แล้ว
ดร.ยุ้ย ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาถึง 20 ปี ให้ความเห็นว่า เวลาเราพูดถึงการศึกษา มักจะแปลงร่างกลับมาเป็นเรื่องของโรงเรียน แต่เมื่อฟังบนเวที หรือเราไปลงพื้นที่จริงๆ การพูดถึงการศึกษาของชุมชนแออัด หรือ คนรากหญ้าแล้ว เรื่องการศึกษาไม่เคยจะเกี่ยวข้องกับโรงเรียนอย่างเดียว ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาลดการเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ ทีมชูนโยบายต้องแก้พร้อมกัน 3 อย่าง ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน
สำหรับเรื่องที่ 1 เรื่องครอบครัว มองว่าความยากจนเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการต้องลาออกเพื่อมาเลี้ยงลูก หรือ ออกจากงานเพื่อมาดูแลคนแก่ติดเตียง จะยิ่งทำให้เกิดปัญหา วิธีแก้ คือ เราต้องมีศูนย์เนอสเซอรรี่ที่ดี เป็นศูนย์เด็กแรกเกิด และทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อทำให้เมืองมีต้นทุนที่น้อยลง ครอบครัวมีกำลังออกไปทำงานมากขึ้น ฟังดูอาจรู้สึกว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจมากกว่า แต่จริงๆ แล้วมันเกี่ยวกันเสมอสำหรับคนยากไร้
เรื่องที่ 2 ชุมชน ชุมชนคือสิ่งแวดล้อม คือโลกของเด็ก เราต้องมีสถานที่สำหรับเล่นกีฬา ทำกิจกรรมไม่ต้องไปอยู่ในที่เล็กๆ หรือเจอแต่สังคมเดิมๆ
“ยิ่งตอนโควิดนี้ชุมชนคือ โลกของเขาเลย แต่ถ้าตื่นมาก็เจอเด็กวัยรุ่นที่เป็นรุ่นพี่ติดกำไลข้อเท้า เพิ่งพ้นคุกมา ถ้าโลกเขาเป็นแบบนั้นก็จะโตมาแบบนั้น แล้วบ้านของคนในชุมชนแออัดไม่ใช่ 400 ตารางวา แต่กว้างเพียง 18 ตารางเมตร แสดงว่าเด็กต้องออกมาข้างนอก แล้วถ้าข้างนอกไม่มีห้องสมุดดีๆ หรือ ศูนย์กีฬาให้ไปเล่น เขาก็จะนั่งคุยกันเองในที่เล็กๆ แล้วก็เล่นเกม ดังนั้นสิ่งที่เราอยากจะทำต่อ คือ ชุมชนก็ต้องแก้ไขด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรทำได้เลย” (ถ้าต้องการสั้นกว่านี้ สามารถตัดโคว้ทคำพูดนี้ออกได้เลยทั้งก้อน)
เรื่องที่ 3 คือ โรงเรียน ที่ไม่ควรมีจุดหมายแค่จุดเดียว คือ การเอนทรานซ์ เราไม่ปฏิเสธว่าเด็กจะมีอาชีพที่ดีเชิดหน้าชูตาต้องจบมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมสังคมเรา แต่เราต้องมีทางออกอื่นให้คนที่หล่นไปจากระบบด้วย ดังนั้นหลักสูตรในโรงเรียนต้องยืดหยุ่น พร้อมกันนั้นก็สร้างค่านิยมให้พ่อแม่ หรือ เด็ก ไม่รู้สึกอับอายที่ไม่จบ ม.6 หรือ มหาวิทยาลัย เราไม่ได้ต้องการปริญญาตรีเท่านั้น เราต้องการประชากรในกรุงเทพฯ ที่มีอาชีพที่ตนเองคิดว่าสามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ และมีความสุขกับการทำงาน ดังนั้นสิ่งที่เราควรต้องแก้ คือ สร้างทางเลือก
“โรงเรียนในกรุงเทพ 400 กว่าโรงเรียน แต่มี 71 โรงเรียนเท่านั้นที่สอน 2 ภาษา ทั้งที่กรุงเทพฯ นี้เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก แสดงว่าเซกเตอร์การท่องเที่ยวเรายาวมาก แต่เด็กที่ผลิตใน กทม. ไม่รู้ภาษาอังกฤษเท่าไหร่ โจทย์เราคือ ทำยังไงให้เด็กทุกคนสามารถมีอาชีพที่ดี และ เลี้ยงดูตัวเองได้ และไม่หล่นไประหว่างทาง หรือ ไม่ก็ไม่ยอมแพ้ระหว่างทาง “
นับเป็นศึกชิงผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่น่าจับตาอย่างยิ่ง นโยบายของทีมใดจะเฉียบคมคู่ควรแก่การบริหารเมืองที่ประกาศว่าตัวเองเป็นสมาร์ทซิตี้มีเทคโนโลยีมากมาย ทว่าคนอยู่อาศัยกลับเต็มไปด้วยแรงงานขาดทักษะ ทั้งมีเส้นความยากจนที่ต่ำเตี้ย เช่นนั้นแล้วการเป็นสมาร์ทซิตี้จะมีความหมายอันใด