กกต.แจงการเลือกตั้ง กทม.- เมืองพัทยา เตือนผู้สมัครเช็กคุณสมบัติตัวเองให้ชัวร์ก่อนสมัคร ชี้โทษหนัก เผย จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว-วอร์รูมการข่าวป้องกันทำผิดเลือกตั้ง เตรียมดึงผู้สมัครจับมือสัญญาเลือกตั้งสมานฉันท์ ชวน ปชช.แจ้งเบาะแสทุจริตเงินรางวัลสูงสุด 1 แสนบาท
วันนี้ (30 มี.ค.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ในหัวข้อ “ข้อควรรู้เพื่อนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา” ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษ ทั้งการปกครองรูปแบบพิเศษ และมีการโหมโรงการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก รวมทั้งพรรคการเมืองให้ความสนใจส่งผู้สมัครในนามพรรค ทั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. โดยมีความซับซ้อนในเรื่องการหาเสียง ทั้งในส่วนของผู้สมัครผู้ว่า ผู้สมัคร ส.ก. และพรรคการเมืองที่เข้ามาหาเสียงด้วย ซึ่งการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ มีตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน หน่วยเลือกตั้ง 6,886 หน่วย ทั้งนี้ เวลาเลือกตั้งทุกครั้งมักจะเกิดเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติ ว่า กกต.ตรวจคุณสมบัติไม่ดีหรืออย่างไร จึงมีการมาดำเนินคดีตอนหลัง ทำไมไม่คัดตั้งแต่ต้น ยืนยันสำนักงานไม่ได้ละเลย ถ้ามีอยู่ในฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐเราตรวจสอบได้ ยกเว้นบางข้อมูลไม่มีหรือเป็นข้อมูลเก่าที่ไม่ได้มีการลงในระบบฐานข้อมูล หรือเป็นข้อมูลของผู้สมัครเอง กฎหมายจึงให้ผู้สมัครรับรองตัวเอง เพราะหากตรวจสอบภายหลังว่าไม่มีคุณสมบัติก็จะถูกดำเนินคดี ส่วนการหาเสียง จะมีเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการหาเสียง ปัญหาความเป็นกลางทางการเมือง การเบียดบังเวลาหรือทรัพย์สินของรัฐในการหาเสียง
ส่วนเรื่องการการนับคะแนน ที่จำนวนบัตรกับผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกัน เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยขั้นตอนที่เรามี แต่อาจจะช้า ทั้งนี้ กฎหมายท้องถิ่นกำหนดหากพบให้ลงคะแนนใหม่ หรือนับคะแนนใหม่เท่านั้น ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดให้เป็นดุลยพินิจของ กกต. ส่วนกรณีที่ผ่านมาคนบอกว่า กกต.เงียบ ไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง ยืนยันว่า จะพูดในเรื่องที่คนเข้าใจผิดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของความเห็น เลือกที่จะไม่โต้ตอบ เพราะไม่ได้เป็นประโยชน์ เรื่องความเห็นควรให้องค์กรที่มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯพยายามแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะนี้ก็มีแนวความคิดนำคะแนนหน้าหน่วยมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ และกำลังมีการพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงแนวทางการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ
ด้าน ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า จากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา การสมัครมีการกระทำผิดมากมาย โดยในการเลือกตั้ง อบจ. มีการร้องเรียน 700 เรื่อง การเลือกตั้งเทศบาล 1,700 เรื่อง การเลือกตั้ง อบต. 1,900 เรื่อง มีทั้งที่มีสาระและไม่เป็นสาระ แต่ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีโทษหนัก จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิ 20 ปี เรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ การให้สัญญาว่าจะให้ ตามมาตรา 65 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ฝากเตือนผู้สมัครเรื่องคุณสมบัติ เพราะในการสมัครเลือก ส.ว.ที่ผ่านมา มีผู้ขาดคุณสมบัติและกระทำผิดจำนวน 300 คน การเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 200 คน และผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นกว่าพันคน ขณะนี้ถือว่ายังมีเวลา ขอให้ผู้สมัครศึกษาคุณสมบัติตามมาตรา 50 ให้ดี เพราะเป็นคุณสมบัติระดับเทพ อย่าคิดว่ามีเวลา มีพวก มีเงิน หรือคิดว่าสมัครครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะบางคุณสมบัติท่านจะรู้ตัวท่านเอง เช่น สมัยวัยรุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เคยเป็นเจ้ามือไฮโล ต้องดู 26 วงเล็บ โดยเฉพาะที่เขียนว่า “เคย” คุณสมบัติจะไม่กลับมา ถ้าสมัครแล้วถอนไม่ได้ หรือถ้าได้รับการรับรองผลไปแล้วคดีก็ต้องเดินต่อ หาก กกต.ตรวจพบส่งศาลก็ต้องโดนใบดำ การจะมาต่อสู้ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องคุณสมบัติที่ต้องรู้ตัวเอง ดังนั้นให้ระมัดระวังตรวจสอบตัวเองให้ดี
“ที่ผมเป็นห่วงมาก คือ ผู้สมัคร ต้องตรวจคุณสมบัติตัวเองให้ดี พวกที่ก้ำกึ่ง 50/50 เช่น ถูกไล่ออก ไม่แน่ใจอย่ามาสมัคร เพราะเราสามารถตรวจเจอแน่นอน ตอนนี้ยังมีเวลาตัดสินใจ แต่หากไปสมัครแล้วไม่สามารถถอนการสมัครได้ ต้องคิดว่าจะอยู่มีชีวิตปกติทำอะไรก็ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือจะอยู่แบบคนถูกเพิกถอนสิทธิ ทำอะไรก็ไม่ได้ เลือกตั้งก็ไม่ได้ ลงสมัครกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้”
ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้มีรางวัลนำจับ การให้เบาะแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งสำหรับประชาชน หากเป็นเบาะแสข้อมูลที่นำพาไปสู่การดำเนินคดี ก็จะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท แต่หากไปถึงชั้นศาลตัดสินก็จะสูงสุด 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนว่าการซื้อเสียงไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับถึง 100,000 บาท ดังนั้นต้องเลือกว่าจะเอาเงินพันหรือเงินแสน อย่างก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก กทม. และจังหวัดชลบุรี จัดชุดเคลื่อนที่เร็วรวม 52 ชุด ชุดการข่าว 13 ชุดส่วนกลาง 10 ชุด มีห้องปฏิบัติการข่าวหากได้ข่าวก็จะส่งข้อมูลไปที่ชุดเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด
ส่วนการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสื่อ กฎหมายกำหนดให้สามารถทำได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำ แต่ห้ามเผยแพร่ในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง การติดป้ายหาเสียงของผู้สมัคร กฎหมายกำหนดให้คำนึงถึงความเหมาะสม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่บทบังทัศนียภาพ การจราจร และความสะอาด ซึ่งหากพบว่ามีการทำผิดสามารถไปแจ้งความเป็นคดีอาญาตามมาตรา 66 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากการกระทำนั้นมีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมก็จะย้อนกลับมาเป็นใบดำได้ ส่วนเรื่องการหาเสียงห้ามหาเสียงหลัง 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง รวมทั้งการกดแชร์โพสต์หาเสียงในสื่อโซเชียลก็จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงด้วย
น.ส.มาณวิกา ทองประเสริฐ รอง ผอ.กกต.กทม. ชี้แจงว่า กกต.ได้แต่งตั้งมีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง 8 คน นอกจากนั้น มีการประสานผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่งตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วทุก 50 เขต เขตละ 3 คน รวมทั้งหมด 150 คน เพื่อป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และจะมีการอบรมการเลือกตั้งสมานฉันท์ ในวันที่ 5 เม.ย. เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ แก่ผู้สมัคร เพื่อลดการกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจาก กทม.ห่างเหินจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 9 ปี การเลือกตั้ง ส.ก. 13 ปี โดยคาดการณ์ว่า จะมีผู้สมัครประมาณ 300 คน รวมทั้งจะมีการให้ผู้สมัครทุกคนร่วมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการทำให้การเลือกตั้งสุจริต ทั้งนี้ นายสำราญ ตันพานิช ผอ.กกต.กทม. ได้มีการเน้นย้ำผู้สมัครเรื่องการเตรียมหลักฐานการสมัคร โดยเฉพาะเอกสารการเสียภาษี 3 ปี รวมทั้งกรณีจัดเลี้ยงกองเชียร์ การจัดกิจกรรมรื่นเริง ขบวนแห่กลองยาว ในวันสมัครรับเลือกตั้ง อาจจะถือเป็นการจัดมหรสพ จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกร้องเรียนได้