รมช.สธ. เผย กมธ.โหวตเบอร์บัตรเลือกตั้ง เสียงสูสี บอกเบอร์เดียวทั้งประเทศไม่ขัด รธน. ลั่น ส่วนตัวของดออกเสียง แต่หากเสียงเสมอกันจะชี้ขาดเอง
วันนี้ (29 มี.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … กล่าวถึงกรณีการลงมติบัตรเลือกตั้ง ว่า คาดว่า จะมีความเห็น 2 ทาง แต่ก็ต้องฟังก่อนว่าในที่ประชุมจะเสนอทางเลือกที่ 3 หรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 2 ความเห็นดังกล่าวจะต้องลงมติกันภายในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาได้เดินหน้าต่อไป ส่วนใครจะลงมติแบบใดก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละฝ่าย
เมื่อถามว่า ในมุมมองประธานกรรมาธิการ หากบัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกัน สุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ตนมองว่า อย่าไปพูดถึงประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องของร่างกฎหมาย และขณะนี้ร่างที่พิจารณาเป็นหลักยังไม่มีรายละเอียดในแง่ของวิธีที่จะได้มา ซึ่งเบอร์และบัตรเลือกตั้ง แต่ร่างของพรรคเพื่อไทยมีวิธีที่จะได้มา คือ การให้ไปสมัครเขตก่อนและรอ ก่อนจะไปสมัครบัญชีรายชื่อ และเมื่อได้เบอร์ ก็จะใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้น การพิจารณากฎหมายเลือกตั้งและการพิจารณากฎหมายพรรคการเมืองก็ต้องแก้ภายใต้กรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เพราะต้องการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งพรรคการเมืองจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนทำหน้าที่ควบคุมในที่ประชุม ยืนยันว่า ในการลงมติครั้งแรก ตนจะไม่ลงมติ แต่จะให้สมาชิกลงมติกัน เพื่อรอดูว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับมติใด แต่หากเกิดกรณีเสียงเสมอกัน ตนจะลงมติชี้ขาด ส่วนจะลงไปในทิศทางใดก็รอให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก่อน
เมื่อถามต่อว่า ในฐานะประธาน กมธ. คิดว่าการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเบอร์เดียวจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า อย่าไปพูดถึงประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญเลย เพราะเป็นการร่างกฎหมายที่ต้องพิจารณาโดยไม่เกินหลักการ ขณะนี้ร่างที่พิจารณาเป็นหลักไม่ได้มีรายละเอียดในแง่ของวิธีที่จะได้มาของแต่ละบัตรเลือกตั้ง แต่ในส่วนร่างของพรรคเพื่อไทย เสนอให้เปิดรับสมัครส.ส.เขตก่อน โดยไม่ยังไม่แจกเบอร์ เมื่อเปิดรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ และแจกเบอร์แล้วก็ให้นำไปใช้ทั้งประเทศ ทั้งนี้การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขกันมา คือ หลักการบัตรสองใบ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งได้ง่าย และทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้จะต้องนำสถิติบัตรเสียและบัตรดีจากการเลือกตั้งโดยใช้บัตรทั้งสองแบบที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร
“ประเด็นว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ผมมั่นใจว่า เราร่างภายใต้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยในกมธ. มีอดีตรัฐมนตรีจากหลายกระทรวง และยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ไม่มีปัญหา และไม่ผิดรัฐธรรมนูญ” นายสาธิต กล่าว
เมื่อถามอีกว่า มีความกังวลต่อบทบาท ส.ว. ทั้งในชั้น กมธ. และการพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ตนไม่กังวลเพราะถือเป็นเอกสิทธิของสมาชิกที่จะลงมติ แต่ตนขอเพียงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และคาดว่า การลงมติสถานการณ์จะสูสีกัน