ส.ส. ก้าวไกล แนะนำรัฐบาลเปลี่ยนมุมมองใหม่ และกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง หลังรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอความเท่าเทียมทางเพศเเละสิทธิมนุษยชนต่อเวทีโลก พร้อมตั้งข้อสังเกต เลือกปฏิบัติ ต้องการสอดไส้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่พูดถึง #สมรสเท่าเทียม ที่ประชาชนต้องการ
วันนี้ (26 มี.ค.) นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแสดงความเห็นต่อกรณีที่รัฐบาลไทยไปหารือกับองค์การสหประชาชาติ ในการประชุมการทบทวนสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ หรือ Universal Periodic Review : UPR เเต่กลับปฏิเสธข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชน เเละความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงและกระทบภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาเวทีโลก ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลไทยต้องรายงานต่อเวทีโลก สิ่งที่มีการรายงานไป คือ พระราชบัญญัติ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะมีการปรับปรุง และประเด็นการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กล่าวถึงการให้สิทธิในการใช้ชีวิตร่วมกันดังคู่ชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และได้รับสิทธิเท่าเทียมกับการสมรส อย่างไรก็ตาม ในการรายงานดังกล่าว ตนมีความกังวลใจในตรรกะด้านความเท่าเทียมทางเพศที่รัฐบาลรายงานเฉพาะ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ดูผิวเผินเหมือนให้ความสำคัญความเท่าเทียม แต่เนื้อหาข้างในยังเป็นการให้สิทธิแบบมี “เงื่อนไข”
นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า เนื้อหาใน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่บัญญัติใจความสำคัญ หมวด 3 การตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ คำถามต่อมาคือ เรามีการเลือกปฏิบัติที่ “เป็นธรรม” ด้วยหรือ เพราะการเลือกปฏิบัติมีความหมายตรงตัว นี่คือ ความเท่าเทียมระหว่างเพศถูกเลือกปฏิบัติได้ถ้ามีเงื่อนไขบางอย่าง แล้วตรรกะแบบนี้เราจะประกาศความเท่าเทียมระหว่างเพศในเวทีโลกอีกกี่ครั้งจึงจะเกิดความเท่าเทียม จึงต้องขอถามย้อนกลับไปยังรัฐบาลว่า ตรรกะแบบนี้หรือไม่ ที่นำมาซึ่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ใช้กฏหมายแบบเลือกปฏิบัติได้เพราะมีความเป็นธรรมอย่างนั้นหรือ และท่านคิดว่าการรายงานประเด็น พ.ร.บ. คู่ชีวิตในเวที่โลกคือสิ่งที่ประชาชนจะได้รับความเสมอภาค โดยไม่มีการกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพราะหากรัฐมีความจริงใจให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศสร้างครอบครัวได้อย่างเสมอภาค เหตุใดเราจึงไม่ใช้หลักการสมรสเช่นเดียวกัน เพราะหากคู่ชีวิตที่ท่านอ้างว่าจะให้สิทธิ์เท่าเทียม ทำไมต้องใช้คำว่าคู่ชีวิต ทำไมไม่ใช่คำว่า สมรส ให้เหมือนกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
“สิ่งสำคัญ ท่านควรต้องถอยหลังปรับตรรกะความเท่าเทียมทางเพศเสียใหม่ เอาแบบกลัดกระดุมให้ถูกเม็ด ไปเวทีโลกจะได้เป็นการรายงานความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ ไม่ใช่ไปพูดประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเวทีโลก ในขณะที่ประชาชนไม่ได้เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ท่านนำเสนอเลย” นายธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย