xs
xsm
sm
md
lg

DES เปิดช่องทางให้ปชช.ตรวจสอบข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผ่านแอพ RGuard

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.ดิจิทัล จัดทำศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 8,000 แห่งกว่า 5,000 ตำบล เพื่อเตือนภัยประชาชน พร้อมเปิดโอกาสให้หน่วยงานใช้ประโยชน์ข้อมูลฟรีผ่านแอพพิเคชั่น

วันนี้( 23 มี.ค.) ที่อาคาร NT Tower บางรัก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดที่ทำการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Data) ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามภารกิจหลักของรัฐบาลที่ต้องการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งหมดทั่วประเทศ และนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

นายชัยวุฒิ กล่าวเปิดงานว่า ทุกพื้นที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นPM 2.5 ไม่ใช่เฉพาะในเมือง แต่ตามต่างจังหวัดก็มีปัญหาการเผาไหม้ หรือไฟป่า เช่นกันซึ่งส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศมาตลอด ต้องขอชื่นชมกองทุนดีอีฯที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติ อย่างไรก็ตามเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ข้อมูลสิ่งแวดล้อมในประเทศมีน้อยมากไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง ซึ่งการที่เราเก็บข้อมูลแบบนี้จะทำให้เราได้เห็นว่าสภาพอากาศในแต่ละปีที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้หวังว่าโครงการนี้จะสำเร็จตามที่เรามุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจที่จะนำข้อมูลไปใช้ต่อไป

ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบทุนอุดหนุนการวิจัยให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เป็นผู้ดำเนินการเพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น และภูมิอากาศในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) เพื่อแจ้งเตือนแก่ประชาชนโดยสามารถดาวน์โหลดแอพพิเคชั่น RGuard บนมือถือ เพื่อใช่ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว

สำหรับเป้าหมายในการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ มีจำนวนทั้งสิ้น 8,000 สถานี ทั้ง 77 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 900 อำเภอ 5,000 ตำบล โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย คือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง หรือเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบหรือความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยสถานีทั้งหมดจะสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ ฝุ่น PM 1 PM 2.5 PM 10 อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ รวมทั้งทิศทางและความเร็วลม ซึ่งสถานที่ติดตั้งสถานีฯ ทั้งหมดของโครงการได้รับความร่วมมือจากกระทรวงหลักต่างๆ ของประเทศ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งข้อมูลคุณภาพอากาศและภูมิอากาศ จะถูกเก็บทุก ๆ 5 นาที และส่งผ่านเครือข่าย LoRaWAN ของเอ็นที และเข้าสู่คลังข้อมูล (Big Data) เพื่อทำการจัดเก็บและวิเคราะห์ต่อไป และเมื่อโครงการฯ เก็บสะสมข้อมูลได้ต่อเนื่องมากเพียงพอจะทำให้สามารถวิเคราะห์และพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดปัญหาฝุ่น PM เฉพาะพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลดังกล่าวยังให้บริการข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บรวบรวมได้จากสถานีตรวจวัดอากาศเหล่านี้ในแบบข้อมูลสาธารณะ (Open Data) แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ ให้สามารถนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเพื่อการวิจัย ข้อมูลสถิติ หรือสร้างเป็น Software ใหม่ ๆ อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

สำหรับโครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี้ นอกจากจะเป็นการดำเนินงานเพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกตามนโยบายหลักของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นโครงการต้นแบบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสร้างทรัพยากรกลางด้านข้อมูล (Big Data) เพื่อให้ประชาชน สถาบันการศึกษาหรือบริษัทเอกชน นำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดจากการดำเนินการของภาครัฐต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น