หมอชนบท จับมือกรีนพีซ ฟ้องศาล ปค.สั่ง ทส.- อก. ออกประกาศแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ชี้ ล่าช้า ทำให้ปชช.ประสบปัญหาสุขภาพ
วันนี้ (22 มี.ค.) ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (Greenpeace Thailand) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ และ น.ส.นันทิชา โอเจริญชัย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามและผลักดันรณรงค์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.), รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบัน ส่งผลให้พื้นที่ กทม.และพื้นที่ภาคเหนือมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐาน ประชาชนต้องประสบปัญหาสุขภาพ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ ผู้ถูกฟ้องคดีออกประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐาน ฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ออกประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภทฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ออกประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด และเทียบเท่ามาตรฐานสากล ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษรวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้
น.ส.อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ได้ผล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดเพราะการป้องกันไม่ให้ปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดย่อมจัดการง่าย และใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดการที่ปลายเหตุ และยังช่วยป้องกันผลกระทบต่อประชาชนทุกคนได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติที่คณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 กลับดำเนินการล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผน
ด้าน นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังดำรงอยู่ กระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน การลุกขึ้นตรวจสอบอำนาจรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นภารกิจของประชาชนทุกคน การฟ้องร้องคดีนี้มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองและคุ้มครองไว้