“ประยุทธ์” โชว์ 3 เรื่อง พลิกฟื้นความสัมพันธ์ “ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” เผย กลับมาสู่ในระดับปกติแล้ว ชี้ 50 วันก็เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมทั้งการท่องเที่ยว-การส่งออกอาหาร-การส่งแรงงานไทย ไปทำงานพร้อมสานต่อและขยายผลความสำเร็จร่วมกันในทุกๆ ด้าน
วันนี้ (21 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยครับ
นับจากวันที่ 25 ม.ค. 65 ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในรอบกว่า 30 ปี ของสองราชอาณาจักร คือ ไทยและซาอุดีอาระเบีย ที่ได้พลิกฟื้นความสัมพันธ์ กลับมาสู่ในระดับปกติ พร้อมที่จะสานต่อและขยายผลความสำเร็จร่วมกันในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้เพียง 50 วัน ก็ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง ตามที่ผมได้กำชับและสั่งการไว้อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ
เรื่องแรก “การเดินทางท่องเที่ยว” โดยเราได้มีโอกาสต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ สายการบิน Saudia Airlines จากเมืองเจดดาห์ กรุงริยาด มาสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 ก.พ. 65 เป็นเที่ยวบินแรกในรอบ 32 ปี เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการทำงาน และความกระตือรือร้นของทุกฝ่าย พิสูจน์ว่าไทยเป็นจุดหมายที่ชาวซาอุฯ ต้องการมาเยือน โดยฝ่ายไทยได้ให้การต้อนรับมิตรผู้มาเยือนกลุ่มแรกนี้ ด้วยของที่ระลึก การแสดงโขน และอุโมงค์น้ำ (Water Salute) ที่เป็นสัญลักษณ์สากล และหลังจากนี้เป็นต้นไป สายการบิน Saudia Airlines จะทำการบินมายังประเทศไทย 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์-พุธ-ศุกร์) และนักท่องเที่ยวคุณภาพจากซาอุดีอาระเบีย และชาวตะวันออกกลาง จะสามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ทั้งแหล่งการค้าการลงทุน ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แหล่งช้อปปิ้ง ทั้งเมืองหลักและเมืองรองต่างๆ ทั่วประเทศไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
เรื่องที่สอง คือ “การส่งออกอาหาร” ที่ทางการซาอุดีอาระเบียได้บรรลุข้อตกลง ให้ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป จาก 11 โรงงานไทยไปที่ซาอุฯ มีผลทันทีตั้งแต่ 13 มี.ค.นี้ ใช้เวลาทำงานร่วมกันเพียง 47 วัน โดยองค์การอาหารและยาซาอุฯ (Saudi Food & Drug Authority : SFDA) เป็นผู้พิจารณาโรงงานไทยที่ผ่านมาตรฐาน โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย ส่วนใหญ่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นทางจนถึงปลายทางแบบ “ครบวงจร” ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มไก่เนื้อ ไปจนถึงโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะฟาร์มไก่ ซึ่งหมายรวมถึงฟาร์มของเกษตรกรภายใต้พันธสัญญากับบริษัท (Contract Farming) ด้วย จึงส่งผลดีต่อทั้งรายใหญ่ รายย่อย และตลอดห่วงโซ่อุปทานของไทย ที่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจะเกิดการขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ และต่อยอดไปยังอาหารฮาลาล ผัก ผลไม้ และอื่นๆ ต่อไป
เรื่องที่สาม คือเรื่อง “การส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ” ที่พี่น้องหลายคนให้ความสนใจและติดตามข่าว ก็มีความคืบหน้าไปมาก และจะนำไปสู่การลงนามข้อตกลงระหว่างกันในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เป็นอีกผลงานที่ใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น โดยคณะผู้แทนทางวิชาการซาอุดีอาระเบีย มีความพอใจในความพร้อมของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงานของไทย ซึ่งมีการจัดตั้งเป็น "ศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน" สาขางานบริการโรงแรม พนักงานบริการห้องพัก และการประกอบอาหารฮาลาล เป็นต้น อีกทั้งแสดงความต้องการแรงงานในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี พ่อครัว และผู้ให้บริการด้านสุขภาพ/สาธารณสุข (Medical Staff) อีกด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า แรงงานไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 10,000 คน ในปัจจุบัน เป็น 50,000 คน ภายในระยะ 3 ปี และเพิ่มอีกเป็น 100,000 คน ภายใน 5 ปี จะสร้างรายได้ส่งกลับประเทศเพิ่มขึ้นอีก 2,250-4,500 ล้านบาทต่อปี โดยผมได้กำชับในเรื่องหลักสูตร การฝึกอบรม มาตรฐานฝีมือแรงงาน จะต้องตรงกับความต้องการจ้างงานและได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้จ้าง เป็นความสำเร็จที่ต่อเนื่องและยั่งยืน สิ่งที่สำคัญคือ ผมยังได้สั่งการให้ดูแลสวัสดิการของพี่น้องแรงงานที่จะไปซาอุฯ ให้ครบถ้วน ไม่ให้บริษัทใดมีการหลอกลวงเป็นอันขาด ทั้งค่าจ้าง ที่อยู่ อาหารการกิน ประกันภัย ไปจนถึงโอกาสในความก้าวหน้า โดยรัฐบาลจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ก่อนเดินทางจนถึงกลับบ้านอย่างปลอดภัยทุกคน
นอกจากนี้แล้ว ผมยังเฝ้าติดตามและกำกับดูแลความคืบหน้าในด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะการยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ จาก “อุปทูต” ให้กลับมาเป็นระดับ “เอกอัครราชทูต” ดังเดิม ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือ ทั้งส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต่อไป ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหลายเรื่อง เช่น การเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ ให้กลับไปที่ 2.2% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ดังเช่นในอดีตเมื่อปี 2532 ซึ่งจะสร้างความสมดุลมากขึ้น รวมทั้งความร่วมมือเรื่อง “พลังงาน” ที่จะสามารถช่วยในเรื่องค่าครองชีพ ต้นทุน และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงโอกาสในด้านอื่นๆ อีกมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากความสำเร็จในการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ครับ