xs
xsm
sm
md
lg

“เทพไท” ระบุ “บิ๊กป้อม” ทำปืนลั่นส่งสัญญาณยุบสภาหลังประชุมเอเปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ชี้ สงสัย “บิ๊กป้อม” ทำปืนลั่น ส่งสัญญาน ยุบสภาหลังประชุมเอเปก ชี้ “บิ๊กตู่” ยังเจออีก 5 กับดักทางการเมือง

วันนี้ (16 มี.ค.) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดในวงนัดเลี้ยงอาหารกับพรรคเล็ก ว่า จะยุบสภาหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกแล้วนั้น ทำให้ตนแปลกใจว่า ทำไม พลเอก ประวิตร ออกมาพูดเช่นนั้น เป็นการเจตนาพูด หรือเผลอพูดไป ถ้าภาษานักเลงเขาเรียกว่า เป็นการทำปืนลั่นหรือไม่ เพราะอำนาจการยุบสภา เป็นอำนาจของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การออกมาพูดในลักษณะชี้นำเช่นนี้ คนที่อึดอัดและลำบากใจในการตอบคำถาม ก็น่าจะเป็นพลเอก ประยุทธ์ เพียงผู้เดียว

ส่วนตัวคิดว่าการที่ พลเอก ประวิตร ออกมาขีดเส้นตาย บอกใบ้การยุบสภา หลังจากการประชุมเอเปกเสร็จแล้วนั้น น่าจะเป็นความประสงค์ เพื่อต้องการลดแรงกดดันของทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพรรคเล็ก ที่เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง ต่อรอง เรียกร้องการดูแลแบบพิเศษสุด ซึ่งมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากที่สุด การประกาศความชัดเจน เรื่องอนาคตทางการเมือง ก็จะทำให้พรรคเล็กคิดถึงอนาคตทางการเมืองในวันข้างหน้า จะต้องทำอย่างไรต่อไป ต้องเตรียมตัวเตรียมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ที่มีการประกาศชัดเจนแล้ว

แม้ พลเอก ประวิตร จะประกาศขีดเส้นการยุบสภาหลังจากประชุมเอเปคแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ยังต้องเจอกับดักทางการเมืองอีก 5 เรื่องใหญ่ คือ

1. การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นการปิดโอกาสการยุบสภา ของพลเอก ประยุทธ์ ไปในตัว
2. การโหวตพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง 2 ฉบับ ในวาระ 2-3 ถ้าหากถูกคว่ำ เมื่อเป็นกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ยุบสภาก็ลาออก
3. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ถ้ารัฐบาลแพ้โหวตในสภา ในกฎหมายการเงินรัฐบาล ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โดยการยุบสภาหรือลาออกเช่นเดียวกัน
4. พลเอก ประยุทธ์ จะต้องเจอกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องวินิจฉัยชี้ขาด ถ้าหากแนวโน้มการวินิจฉัยให้วาระ 8 ปีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พลเอก ประยุทธ์ อาจจะชิงยุบสภา หรือลาออกก่อนมีคำวินิจฉัยก็ได้
5. การประชุมเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาล ก็พยายามเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลต้องมีอันเป็นไปก่อนการเปิดประชุมเอเปก เพื่อไม่ต้องการให้พลเอก ประยุทธ์ แสดงบทบาทในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ต่อประชาคมโลก

เพราะฉะนั้นการประกาศช่วงจังหวะการยุบสภา ของพลเอก ประวิตร น่าจะเกิดผลทางการเมือง 2 ประการ คือ 1. ลดแรงกดดันทางการเมืองของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง 2. จะเป็นการกดดันพลเอก ประยุทธ์ ไปในตัวว่า เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกแล้ว จะต้องยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ส่วนความเปลี่ยนแปลงใดๆ หากจะเกิดขึ้นก่อนการประชุมเอเปกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของสถานการณ์การเมืองที่จะต้องวิเคราะห์กัน ชนิดวันต่อวันกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น