โฆษกรัฐบาลเผย “นายกฯ” พอใจการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูคืบหน้า ศธ. จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู 558 แห่งทั่วประเทศ ครู-บุคลากรทางการศึกษา ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้หนี้รอบแรกกว่า 2.9 หมื่นราย
วันนี้ (11 มี.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งนางสาวตรีนุช เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สนองนโยบายในการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาอย่างต่อเนื่อง และสานต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรีไปสู่การปฏิบัติ โดยได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับกระทรวงขึ้น เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูภายใต้แนวทางการลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้น้อยลง ให้ครูมีรายได้ต่อเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน พร้อมกำหนดแนวทางขับเคลื่อนในเฟสแรกด้วยการลดดอกเบี้ย เปิดโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งเป็นเจ้าหนี้ครูรายใหญ่เข้าร่วม ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง จากทั้งหมด 108 แห่ง เข้าร่วมปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.05-1.0% และมีสหกรณ์ 11 แห่ง สามารถปรับลดดอกเบี้ยให้ลงเหลือต่ำกว่า 5% มีครูได้รับประโยชน์ทันทีกว่า 460,000 คน และ ศธ. จะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเฟสถัดไป โดยล่าสุดได้จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา จำนวน 481 แห่ง ระดับจังหวัด 77 จังหวัด รวม 558 สถานีทั่วประเทศ
นายธนกรกล่าวอีกว่า ศธ. ได้เปิดโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” เมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา เปิดให้ครูและบุคลากรทางศึกษาเข้ามาลงทะเบียนผ่านออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://td.moe.go.th เพื่อแจ้งความประสงค์เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ในรอบแรกเปิดลงทะเบียนระหว่าง 14 ก.พ. - 14 มี.ค. 65 ซึ่งขณะนี้ (10 มี.ค. 65) มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมแล้วจำนวน 29,817 ราย ซึ่ง ศธ. จะส่งต่อให้เขตพื้นที่ฯ เร่งดำเนินการช่วยเหลือ ขณะเดียวกันจะเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขที่หลากหลาย รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและเพื่อแบ่งเบาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งจะช่วยทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาให้ดีขึ้นตามไปด้วย
“นายกรัฐมนตรีความมุ่งมั่นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี โดยประกาศให้ปี 2565 เป็น ‘ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน’ โดยครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนกว่า 9 แสนคน มีหนี้สินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความคืบหน้าการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ครูจะเป็นตัวอย่างสำคัญในการขยายไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ให้กับข้าราชการส่วนอื่น ๆ รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนรายครัวเรือนทุกมิติ ทั้งนี้ ท่านนายกฯ ได้กำชับให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างเคร่งครัด โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ให้กับทุกกลุ่มให้เป็นรูปธรรมชัดเจน และยั่งยืน” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว