สคช. - ปัญญาภิวัฒน์ เปิดเวทีถกมาตรฐานอาชีพสาขาปศุสัตว์ ดันผู้เลี้ยงสัตว์ 6 อาชีพนำร่องเป็นผู้เลี้ยงคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ
วันนี้ (9 มี.ค.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับ คณะการจัดการธุรกิจอาหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดเวทีสัมมนาออนไลน์ “การจัดทำร่างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาปศุสัตว์” โดยมี น.ส.วรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเปิดการสัมมนา หลังกระแสสังคมให้ความใส่ใจคุณภาพการทำปศุสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะสุกรที่ส่งผลกระทบต่อราคาในตลาด และผู้บริโภค
น.ส.วรชนาธิป กล่าวว่า กระบวนการจัดทำมาตรฐานอาชีพด้านปศุสัตว์ เป็นการปรับตามแนวทางมาตรฐานสากล ISO/IEC17024 มาตรฐานการรับรองหน่วยรับรองบุคลากรโดยเฉพาะ เพื่อมุ่งหวังยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของประเทศด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ นำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ที่ผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน มุ่งเป้าผลผลิตเป็นที่ยอมรับทั้งการส่งออกภายในและต่างประเทศ เนื่องจากคำว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับตรงกันโดยเฉพาะมาตรฐานที่เป็นการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐจะยิ่งเป็นการสร้างคุณค่า สร้างการยอมรับในความสามารถของเกษตรกรไทย ซึ่งการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาปศุสัตว์ มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรใน 6 อาชีพนำร่อง ได้แก่ อาชีพผู้เลี้ยงสุกร อาชีพผู้เลี้ยงไก่เนื้อ อาชีพผู้เลี้ยงไก่ไข่ อาชีพผู้เลี้ยงโคนม อาชีพผู้เลี้ยงโคเนื้อ และอาชีพผู้เลี้ยงแพะ
น.ส.วรชนาธิป กล่าวอีกว่า โดยข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ระบุแนวโน้มการส่งออกเนื้อไก่ของไทยคาดการณ์ในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 อยู่ที่ 920,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 104,000 ล้านบาท ส่วนสุกรที่แม้จะเพิ่งมีกระแสข่าวโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ AFH แต่คาดการณ์ว่าจะยังคงมีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรสูงขึ้น และจะส่งผลดีต่อการส่งออกเมื่อสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีหากผู้เลี้ยงสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐาน ไม่ว่าจะส่งผลดีต่อคุณภาพการผลิตแล้ว ก็จะยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์ด้วยตามหลักความปลอดภัยอาหาร หรือ Food Safety รวมไปถึงหลักสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health ในการส่งเสริมสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในประเทศ
ด้าน ผศ.ดร.อนันต์ บุญปาน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการจัดการธุรกิจอาหาร สถาบันฯ ปัญญาภิวัฒน์ บอกว่า แนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขางานด้านปศุสัตว์ จะมีการรวบรวมข้อมูลจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมพัฒนางานด้านปศุสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565) รวมถึงการศึกษามาตรฐานต่างประเทศทั้งออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ มาปรับใช้ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เป็นที่ยอมรับทั้งในและระดับสากล และยังเป็นสร้างโอกาสทางการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาปศุสัตว์ จะมีผลบังคับใช้ได้ภายในต้นปี 2566 ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้รับประโยชน์โดยตรงในการพัฒนาทักษะ ความสามารถของตัวเอง โดยมีการรับรองด้วยหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ หรือประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าคุณวุฒิการศึกษา ขณะที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกบุคลากรผู้เลี้ยงเข้าทำงาน หรือเป็นผู้ผลิตสายตรงได้ด้วย
สำหรับการจัดทำมาตรฐานอาชีพครั้งนี้เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน