xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบปฏิญญาแรงงานรอบอ่าวอาหรับ พัฒนาขีดความสามารถยกคุณภาพชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ครม.เห็นชอบความร่วมมือด้านแรงงานรอบอ่าวอาหรับ Abu Dhabi Dialogue จับมือพัฒนาขีดความสามารถ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของแรงงาน

วันนี้ (9 มี.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (8 มีนาคม 2565) ว่า ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue ครั้งที่ 6 (The Joint Declaration of the Abu Dhabi Dialogue Sixth Consultation) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งการประชุม ADD นี้ เป็นการประชุมหารือระหว่างประเทศสมาชิกกระบวนการโคลัมโบ (ประเทศผู้ส่งแรงงาน) 12 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และ เวียดนาม กับกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับผู้รับแรงงาน รวม 7 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาขีดความสามารถ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของแรงงาน ณ ประเทศปลายทาง เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไปทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศต้นทางที่ส่งออกและประเทศปลายทางที่รับแรงงาน

ร่างปฏิญญาร่วมฉบับนี้ มีขอบเขตความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. การพัฒนาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราว เช่น สนับสนุนให้มีโครงการเพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้เป็นระบบการแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งสร้างระบบที่เอื้อให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ตลอดจนมีการแบ่งปันบทเรียนทางนโยบายที่ได้รับระหว่างประเทศสมาชิก ADD และอื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกพิจารณาขยายขอบเขตระบบการคุ้มครองด้านค่าจ้างให้ครอบคลุมแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราว

2. การอำนวยความสะดวกและยกระดับการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงานและการเทียบคุณวุฒิแรงงานระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงาน เพื่อตอบสนองต่อภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน เช่น การศึกษาเพื่อวิเคราะห์บทเรียนที่ได้รับ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความต้องการทักษะแรงงาน รวมทั้งพัฒนาทักษะที่สอดคล้องในระดับภูมิภาคระหว่างคู่เจรจา เพื่อให้ตรงกับความต้องการและประเด็นที่ให้ความสำคัญของประเทศสมาชิก ADD

3. การแก้ไขปัญหาข้อท้าทายที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพ ในการรับหรือส่งคืนแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราวระหว่างประเทศสมาชิก ADD โดยอำนวยความสะดวกให้มีการสื่อสารโดยใช้ภาษาถิ่นของแรงงานเชื้อชาติต่างๆ

4. การบูรณาการเพศภาวะในนโยบายด้านการส่งเสริมการจ้างงาน เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความต้องการแรงงานสตรีในตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของแรงงานสตรีภายในประเทศสมาชิก ADD

5. การส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาค ระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น อาศัยความร่วมมือของประธานและเลขาธิการของโครงการต่างๆ ในการชี้แนะด้านโอกาสและแนวทางการปฏิบัติในด้านต่างๆ เช่น ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล โดยมุ่งเน้นไปที่การนำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติไปปฏิบัติ รวมถึงส่งเสริมให้มีการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น