xs
xsm
sm
md
lg

เด็กพรรคกล้าแนะดึงโลจิสติกส์เอกชน-อาสา ช่วยส่งยาผู้ป่วยโควิดรักษาตัวที่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า แนะดึง Logistic เอกชน-อาสาสมัคร มาช่วยส่งยา หลังพบเคสโควิดรักษาที่บ้าน อาการทรุดหลายราย เพราะยามาส่งช้า เทียบสั่งของ Shopee ยังมาส่งเร็วกว่า
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.เขตประเวศ พรรคกล้า กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เจอเคสผู้ป่วยหลายราย ลงทะเบียนรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่ปรากฏว่า ไม่มียาและอาหาร 3 มื้อ มาส่งจริงตามนัดหมาย บางเคสรอเป็นสัปดาห์ จากผู้ป่วยสภาพดี-สีเขียว จนอาการกำเริบหนัก สภาพแย่ กลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง ต้องเข้าโรงพยาบาลต่อ ใครรับผิดชอบ? อีกหลายเคสก็รอยาวไป จนหายเอง ก็ยังไม่เคยเห็นจ่าหน้าซองยา แม้แต่ครั้งเดียว

นายพงศ์พล บอกอีกว่า เรื่องนี้สำคัญเกินกว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หน่วยงานผู้รับผิดชอบ อย่าละเลยด้วยการรับเรื่องลงทะเบียน Home Isolation แล้วเทผู้ป่วยกลางคัน เพราะนี่คือหลายชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ขณะที่องค์การเภสัชกรรมก็ย้ำว่า ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ไว้เพียงพอความต้องการ สำรองทั้งสิ้นกว่า 84 ล้านเม็ด นั่นแปลว่าปัญหาอยู่ที่การแจกจ่ายใช่หรือไม่ พร้อมมองว่าระบบการส่งยาต้องจริงจังกว่านี้ ในกระบวนการ HI เทียบง่ายๆ ทุกวันนี้เราสั่งซื้อเสื้อออนไลน์ในช้อปปี้ ของยังมาส่งได้วันรุ่งขึ้น ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่จำเป็นสุดๆในการรักษา ดันได้รับล่าช้าเป็นสัปดาห์ แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าการจัดการมีปัญหา มีบั๊คอยู่จริงในระบบ

นายพงศ์พล ยกตัวอย่างประเทศอเมริกา ที่ Amazon เว็บการซื้อขายสินค้าปลีกทางออนไลน์ระดับโลก ประกาศปิดส่งสินค้าทุกประเภทที่ไม่จำเป็น เพื่อการลำเลียงสินค้าสาธารณสุขจำเป็น อย่าง ยารักษาโรค หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั่วประเทศเขาก่อน นั่นเป็นเพราะเขาให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพผู้คนเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งนี้ จากข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ จนถึง วันที่ 1 มีนาคม 2565 จำนวนการโทรเข้าสายด่วน สปสช.1330 สุดสูงถึง 70,300 สาย/วัน และช่องทางไลน์ กว่า 12,000 ราย ซึ่งทางสปสช.เอง ยอมรับว่าเป็นจำนวนเกินศักยภาพที่ระบบจะรองรับได้

นายพงศ์พล ได้แนะแนวทางแก้ปัญหา โดยระบุว่า สปสช. ควรดึงเอกชน และประชาชนอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมกว่านี้ คือ 1) ผนวกเพิ่มความร่วมมือ กับองค์กรเอกชนด้าน Logistic ดึงเอามือพระกาฬอย่าง Grab, LineMan, Lalamove, Kerry, J&T และอีกมากมาย เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดส่งยาและอาหาร ในระบบ Home Isolation เพราะทุกองค์กรเอกชน ย่อมอยากมีแคมเปญ CSR (Corporate Social Responsibility) ตอบแทนสังคมอยู่แล้ว ซึ่งเอกชนรายนั้นก็จะได้ภาพลักษณ์ช่วยสังคม ขณะเดียวกันก็ช่วย เติมเต็มประสิทธิภาพการแจกจ่ายยาของ สปสช. ได้อีก win-win ทั้งคู่ จากที่ก่อนหน้านี้พาร์ตเนอร์กับแค่กับ ไปรษณีย์ไทยเจ้าเดียว ซึ่งเห็นแล้วไม่เพียงพอ 2) เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ประชาชนช่วย “อาสาลำเลียงยา” ก่อนหน้านี้ สปสช. ไม่เคยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีแต่ประชาชนวิ่งเข้าหา เพื่อขออาสาส่งความช่วยเหลือผ่านเพจหมอ หรือผ่านบุคคลากรณ์การแพทย์ที่ตนรู้จัก แต่ในสถานการณ์นี้ปริมาณความต้องการยา เกินกว่าที่ระบบฝากๆ กัน จะทำงานได้ทัน สปสช. ควรเปิดลงทะเบียน “อาสาลำเลียงยา” อย่างเป็นจริงเป็นจัง ให้ประชาชนที่มีความพร้อมช่วยกันดูแล นี่เราพูดถึงจำนวนแรงงานอาสาทั่วประเทศกว่า 5 หมื่นคน ที่เข้ามาช่วยแก้วิกฤต

“ย้ำชัดๆ อีกครั้ง ปัญหา Home Isolation เกี่ยวโยงกับระบบสาธารณสุข และการจัดสรรข้อมูลของภาครัฐ โดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขให้ไวที่สุด เพราะทุกนาทีมีผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งชีวิตของประชาชนเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับการจัดการวิกฤต อย่างมีประสิทธิภาพ หากเกินกำลังรัฐ ต้องเปิดโอกาส ให้หลายฝ่ายมีส่วนร่วม ก่อนที่สังคมส่วนรวม ต้องสูญเสียไปกว่านี้” นายพงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น