อนาถสภาหมี่นล้าน!“โฆษกสภาฯ”แจงปมน้ำรั่วจนท่วมขังลานจอดรถ พบ ‘ท่อระบบรดน้ำต้นไม้’ แตก อยู่ระหว่างหาสาเหตุ ชี้ พื้นที่ยังอยู่ระหว่างส่งมอบงานงวดสุดท้าย ถ้ามีอะไรเสียหายช่วงยังไม่ได้ตรวจรับ ‘ผู้รับจ้างฯ’ ต้องรับผิดชอบ
วันนี้ (4 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับข้อมูล พร้อมออกมาเปิดเผยคลิป และข้อมูลข่าวเกิดเหตุท่อน้ำประปารั่วภายในอาคารรัฐสภา ทำให้มีน้ำไหลท่วมขังเจิ่งนองจากบริเวณห้องทำงานบางส่วน ตลอดจนไหลท่วมขังไปที่บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดิน (ชั้น B1) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาปรากฎเป็นข่าวต่อสื่อมวลชนไปทั่ว เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ทางเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งเอกสารข่าวผ่านทางกลุ่มไลน์ประชาสัมพันธ์ต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวโดย ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีเนื้อหาระบุว่า เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 1มี.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 06.00น.ว่า ทางสำนักงานฯ ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว และได้รับรายงานว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากข้อง 90 องศา ชนิดแบบสวมอัด (Compression Fitting) ของท่อระบบรดน้ำต้นไม้แตก ทำให้เกิดน้ำรั่วบริเวณเหนือฝ้าเพดาน ชั้น 8 และไหลท่วมลงมาบริเวณพื้นและห้องทำงานบางส่วนที่อยู่บริเวณ ชั้น 8 ตลอดจนไหลต่อเนื่องไปยังลานจอดรถชั้นใต้ดิน B1 ภายในอาคารรัฐสภา
“ตามปกติแล้ว การทำงานของระบบรดน้ำต้นไม้จะมีการกำหนดโปรแกรมให้ปั๊มระบบรดน้ำต้นไม้ทำงานในระหว่างเวลา 06.00 -12.00 น. ของทุกวัน เมื่อระบบทำงานจะเกิดแรงดันน้ำภายในท่อในระดับ 4 Bar โดยชนิดของท่อและข้อต่อที่เลือกใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบนั้น ได้เลือกใช้ท่อและข้อต่อเป็นชนิด HDPE Class PN10 ซึ่งได้มีการทดสอบการทนแรงดันน้ำได้ถึงระดับ 10 Bar จึงไม่ควรเกิดปัญหาข้องอ 90 องศา ชนิดแบบสวมอัดของท่อระบบรถน้ำต้นไม้แตกตามที่ปรากฏ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระบบท่อน้ำแตกนั้น อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของผู้รับจ้างฯ และจะรายงานผล รวมทั้งวิธีการป้องกันปัญหาให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทราบต่อไป” โฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาฯ กล่าว
ว่าที่เรือตรียุทธนา กล่าวด้วยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ขอเรียนว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบนั้น อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมงานและมีที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ ร่วมดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง ทั้งผู้รับจ้างยังไม่ได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย และคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ยังไม่มีการตรวจรับ ดังนั้น หากมีความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากความชำรุดบกพร่องของการก่อสร้างอาคารในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการตรวจรับ ผู้รับจ้างฯยังคงต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งหมด