xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ยุ้ย-ชัชชาติ” ชูนโยบาย “ความปลอดภัย” และ “ความมั่นคงในชีวิต”เน้นแก้ปัญหาความเปราะบางอย่างเร่งด่วน เดินหน้าสร้าง กทม.น่าอยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.ยุ้ย” ขึ้นเวทีประกบ “ชัชชาติ” เปิดตัวนโยบาย กรุงเทพฯ 9 ดี เน้นชีวิตปลอดภัย มั่นคง เร่งวางโครงสร้างพัฒนาสู่เมืองน่าอยู่ ยกระดับความเป็นอยู่ให้กับผู้หญิงใน กทม.

วันนี้ (2 มี.ค.)ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการบริษัทเสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะทีมนโยบายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ขึ้นเวที ณ มิวเซียมสยาม เปิดนโยบาย 9 มิติ กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน พร้อมเปิดตัวเครือข่ายอาสาเพื่อนชัชชาติ ที่ได้ศึกษาดัชนีชีวัดเมืองน่าอยู่ ในการเป็นพื้นฐานการจัดกลุ่มนโยบาย และดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของกรุงเทพฯ ทั้งปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี เศรษฐกิจดี

ดร.เกษรา เปิดเผยถึงนโยบายความปลอดภัยและ ความมั่นคงในชีวิต โดยนโยบาย 9 ดี เน้นแก้ปัญหาให้กับผู้หญิงและเด็ก ที่มีสัดส่วนมากว่าผู้ชายเกินครึ่ง และยังเป็นกลุ่มเปราะบางใน กทม. ที่ต้องเจอกับปัญหาในนเรื่องความไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิต ยิ่งได้ลงพื้นที่พูดคุยก็ทำให้รับรู้ปัญหาในหลายมิติที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะการใช้ชีวิตของผู้หญิงและเด็ก ใน กทม. มีความเสี่ยงในทุกด้าน ทั้งการถูกทำร้ายร่างกาย ปัญหาคุณแม่วัยใสที่ท้องตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ข้อมูลจากมูลนิธิปวีณาฯ ตั้งแต่ต้นปี 2565 เพียงแค่ 45 วัน พบผู้หญิงและเด็กร้องเรียนผ่านมูลนิธิฯ จำนวนกว่า 506 เรื่อง นับเป็นการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นไม่รู้จบกับผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตใน กทม.

"สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เพียงการวางแผนนโยบายของทีมเท่านั้น แต่ยังต้องมีการประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นไปได้ยาก ภาคประชาชนเองก็นับเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้นโยบายทั้งหมดเกิดขึ้นได้จริงเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน"ดร.เกษรา กล่าว

ดร.เกษรา กล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายคือความหลากหลายของปัญหาในแต่ละกลุ่มที่มีความเปราะบางในทุกด้าน จำเป็นต้องทำความเข้าใจเพื่อสะท้อนปัญหาให้เห็นชัดขึ้น เพื่อวางนโยบายให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการ ส่วนตัวมองว่า แม้การแก้ปัญหาอาจจะทำได้ยาก แต่หากไม่มีการเริ่มต้น ก็จะยิ่งเป็นการสะสมและขยายวงกว้างมากขึ้นโดยไม่รู้จบ โดยเฉพาะความมั่นคงที่อยู่อาศัยที่ต้องทำงานในเชิงรุก เพราะปัญหาชุมชนแออัดที่มีอยู่ 2,500 ชุมชน ถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่เราต้องไปแก้ปัญหา สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาจัดการเรื่องที่ดิน รวมถึงที่ดินเอกชนที่ไม่สามารถพัฒนาได้นำมาใช้ประโยชน์ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการทำบ้านมั่นคงให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ได้มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง พร้อมยืนยันว่าหากทีมของตนเองและคุณชัชชาติ ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ในบางนโยบายอาจจะไม่ทำได้จบในระยะเวลาเพียง 4 ปี แต่อย่างน้อยก็ได้มีการเริ่มต้นวางนโยบายไว้เพื่อให้ทีมที่เข้ามาได้สานต่อได้ทันที






กำลังโหลดความคิดเห็น