xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสแกนนโยบายการศึกษา กทม.ยุค “บิ๊กวิน” ย้อนหลัง 3 ปี “สตง.” จัดหนักโรงเรียนสองภาษา-คอมพิวเตอร์โรงเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดผลสแกนนโยบายการศึกษา กทม.ยุค “บิ๊กวิน” ย้อนหลัง 3 ปี สตง.จัดหนักแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบนโยบายโรงเรียนสองภาษา-สะเต็มศึกษา ยังต่ำกว่าเป้าหมาย เฉพะโรงเรียนสองภาษา ขาดครูต่างชาติสอนตรงวิชาเอก พบคอมพิวเตอร์โรงเรียนนับพันเครื่อง-ระบบสารสนเทศ-ฐานข้อมูล “ตกรุ่น” กว่า 10 ปี

วันนี้ (28 ก.พ.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดยเฉพาะแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน กทม. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ฉบับปรับปรุง จากผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 ยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม.

สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบ “โครงการโรงเรียนสองภาษา และการดำเนินงานสะเต็มศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563”

เฉพาะ “โรงเรียนสองภาษา” ยังพบว่า ต่ำกว่าเป้าหมายและไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด

“หลักสูตรไทย-อังกฤษ ปี 62-63 ต่ำกว่าเป้าหมายเชิงปริมาณที่กำหนด เฉพาะปี 62 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมต่ำกว่าเป้าหมายเพียง 18 แห่ง และปี63 เข้าร่วมเพียง 1 แห่ง”

จากการสุ่มตรวจ 11 โรงเรียน 11 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีการทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

พบ 8 โรงเรียน ที่มีแผนต้องทดสอบ แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลผลการทดสอบที่ใช้แบบทดสอบมาตรฐานจากสถาบันซึ่งได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ เทียบเคียงระดับความสามารถกับกรอบ CEFR ของผู้เรียนประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือจากสถาบันอื่นที่ได้รับรองมาตรฐาน

อีก 3 โรงเรียน จัดการเรียนการสอนไม่ถึงระดับที่ต้องทดสอบ อย่างไรก็ตาม สำนักการศึกษาได้มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้โดยการทดสอบด้วยแบบทดสอบกลางทุกระดับชั้นตามหลักเกณฑ์การประเมินของโครงการโรงเรียนสองภาษา

สตง.พบว่า ครูต่างชาติ ที่เข้ามาช่วยสอนภาษาอังกฤษ มี 7 โรงเรียนไม่ตรงวิชาเอกที่ต้องการ และไม่เพียงพอตามแนวทางที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ขาดครูที่จบวุฒิการศึกษาวิชาเอกวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

“จำนวนครูต่างชาติ ใน 6 โรงเรียน ไม่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนสองภาษา อีก 3 โรงเรียน ที่จัดการเรียนการสอนกลับไม่ประสงค์ขอรับครูต่างชาติเพิ่ม และมี 3 โรงเรียน ครูต่างชาติไม่เพียงพอ”

นอกจากนี้ บุคลากรส่วนใหญ่ยังมีปัญหาและข้อจำกัดในการจัดทำหลักสูตรภาษาอังกฤษให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดค่อนข้างยาก การใช้ประโยคและไวยากรณ์ที่ถูกต้องตรงตามตัวชี้วัดและหลักสูตร รวมถึงปัญหาการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างครูชาวไทยกับครูต่างชาติ

“โครงการที่ต่ำกว่าเป้าหมายและไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ส่งผลให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วน เสียโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ขณะที่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างเต็มประสิทธิภาพ”

สตง. ยังสุ่ม 22 โรงเรียนสังกัด กทม. พบว่า 9 แห่งที่ได้รับงบประมาณจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาในโรงเรียนตามแนวทางการนำกิจกรรมสะเต็มศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ไม่มีการจัดกิจกรรมสอดแทรกไปตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องของแต่ละรายวิชาภายในคาบเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีการจัดกิจกรรมไว้ในรายวิชาเพิ่มเติม หรือเลือกเสรี และไม่มีการจัดกิจกรรมไว้ในกลุ่มกิจกรรมนอกชั้นเรียน และส่วนใหญ่ไม่มีการจัดตั้งชมรม STEM & Robotics รวมทั้งไม่มีการนิเทศติดตามการสอนของครูผู้สอนที่เข้ารับการอบรม

“การจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาสอดแทรกในชั้นเรียนไม่มีความต่อเนื่อง อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาไม่เพียงพอ และครูพี่เลี้ยงยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ จึงไม่สามารถให้ความเห็นในการนิเทศติดตามได้อย่างมั่นใจการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาของ กทม.ไม่มีประสิทธิภาพ”

อาจส่งผลกระทบต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET) วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ยังมีค่าเฉลี่ยของโรงเรียนบางแห่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

สตง.ยังพบว่า 20 โรงเรียนจากการสุ่มตรวจ 21 โรงเรียน มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน “นักเรียน 1 คน ต่อ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง” หรือไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนทุกห้อง ซึ่งส่วนมากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ตามนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยี และพัฒนาระบบสารสนเทศทางการศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563

มีโรงเรียนเพียง 1 แห่ง ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงพอกับจำนวนนักเรียน

ขณะเดียวกัน แม้โรงเรียนทุกแห่งจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ และครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับตาม “โครงการเช่าระบบและพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ ปี 2555-2559” หรือ เกือบ 10 ปีก่อน

ใน 21 โรงเรียน เครื่องคอมพิวเตอร์ กลับมีสภาพเก่า เสื่อมสภาพ และชำรุด สามารถใช้งานได้แต่มีสภาพเก่าและเสื่อมสภาพ 861 เครื่อง หรือ ร้อยละ 69.94 และมีสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ 370 เครื่อง หรือร้อยละ 30.06

เช่นเดียวกับ ครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์เก่า เสื่อมสภาพ และชำรุด โดยโต๊ะคอมพิวเตอร์ชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ 47 ตัว แถมเก้าอี้คอมพิวเตอร์ 996 ตัว ที่สามารถใช้งานได้แต่มีสภาพเก่าและเสื่อมสภาพ และ 265 ตัว ไม่สามารถใช้งานได้

สตง. ยังพบว่า ระบบเพื่อรองรับงานระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคลทางการศึกษา ช่วงปีงบ 2560-2563 หลายโครงการยังเป็นไปอย่างล่าช้า เช่น ฐานข้อมูลข้าราชการครูและลูกจ้างในระบบไม่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ระเบียบและข้อกฎหมายที่ใช้รองรับการดำเนินการในระบบบางส่วนยังไม่แล้วเสร็จ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับการใช้งาน

สตง.ยังสุ่ม 22 โรงเรียน ตามแผนการจัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัดจากการตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัดในช่วงปีการศึกษา 2561-2563

“ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่ดำเนินการจัดซื้อไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน ส่งผลกระทบทำให้นักเรียนขาดความเข้าใจในการเรียนรู้ เนื่องจากไม่มีหนังสือใช้ประกอบการเรียนการสอน และไม่สามารถทบทวนความเข้าใจเนื้อหา”

สตง.มีข้อสังเกต การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด

โดยเฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2564) โดยในขั้นตอนการจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) และราคากลาง มีการขอขยายระยะเวลาดำเนินการกำหนดร่างขอบเขตของงาน

“เนื่องจากต้องใช้เวลามากในการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบของโครงการพัฒนาฯ ส่งผลให้สำนักการศึกษาและโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเสียโอกาสในการใช้งานระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษา”

มีรายงานว่า สำหรับโครงการสะเต็มศึกษา กทม.ได้รับงบประมาณจัดสรรจากรัฐ ปี 2560-2563 ให้กับโรงเรียนในสังกัด ผ่านสำนักการศึกษา สำนักงานเขต 50 เขต จำนวน 437 แห่ง เป็นค่าใช้จ่ายปีงบประมาณ ละ 25,000 บาท/โรงเรียน คาดว่า ได้รับงบประมาณรวมประมาณ 32 ล้านบาทเศษ

ปีงบประมาณ 2560-63 กทม. มีโรงเรียน 2 ภาษา นำร่อง หลักสูตรไทย-อังกฤษ รวมจำนวน 59 โรงเรียน ใน 37 สำนักงานเขต ตามข้อมูลของหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กทม. พบว่า มีกิจกรรมเบิกจ่ายค่าตอบแทนครูต่างชาติ มากกว่าคราวละ 166 คน ชั่วโมงการสอนชั่วโมงๆ ละ 600 บาท

เฉพาะปีงบ 2560 ตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา งานพัฒนาการนิเทศการศึกษา พบว่า ตั้งงบไว้ที่ 154 ล้านบาทเศษ คาดว่า 3 ปีใช้งบประมาณมากกว่า 450 ล้านบาท

พบว่า แม้ในปี 2553 จะมีการเลื่อนโครงการเช่าระบบและพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ ระยะที่ 3 ของโรงเรียนสังกัดกทม. 435 แห่ง จำนวน 25,074 เครื่อง งบประมาณ 939.8 ล้านบาท ออกไป แต่ปีงบ 2555-2559 มีการจัดสรรเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น