ปรับเบี้ยประชุม “บอร์ดคุ้มครองผู้บริโภค-อนุฯ 32 คณะ” พ่วงประโยชน์ตอบแทนอื่น ย้อนหลัง 4 ปี หลังประชุมแล้วมากกว่า 2 พันครั้ง ประธานฯรับสูงสุด เดือนละหมื่น กรรมการคนละ 8 พัน ส่วน “กรรมการเฉพาะเรื่อง” ได้รายครั้ง สูงสุดครั้งละ 2 พัน อนุฯ ได้รับครั้งละพันสอง
วันนี้ (20 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในกำกับของ สำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมปรับอัตราค่าเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) กรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประธานกรรมการเฉพาะเรื่อง กรรมการเฉพาะเรื่อง และประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการ ในกำกับ สคบ.
ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ความเห็นชอบการกำหนดเบี้ยประชุม โดยบอร์ด คคบ. จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน ตั้งแต่ ประธานกรรมการ ได้รับค่าเบี้ยประชุมเดือนละ 10,000 บาท กรรมการได้รับเบี้ยประชุม เดือนละ 8,000 บาท ได้รับเบี้ยประชุมเฉพาะเดือนที่ได้เข้าร่วมประชุม และได้รับไม่เกิน เดือนละ 1 ครั้ง หากเดือนใดไม่มีการประชุมหรือมีแต่ไม่เข้าร่วมให้งดจ่าย
ขณะที่ คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ให้ได้เป็นรายครั้ง โดยประธานฯ ครั้งละ 2,000 บาท กรรมการฯ ครั้งละ 1,600 บาท ให้ได้เฉพาะครั้งที่ได้เข้าร่วมประชุม
ส่วนคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยบอร์ด คคบ.ทั้งจากเจ้าหน้าที่ราชการและบุคคลภายนอก ให้ได้เป็นรายครั้ง โดยประธานอนุฯ ได้รับครั้งละ 1,250 บาท อนุฯอื่นๆ ได้ครั้งละ 1,000 บาท โดยได้เฉพาะครั้งที่ได้เช้าร่วมประชุม
ส่วนประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ กรรมการที่เป็นข้าราชการได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติราชการตามสิทธิที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526
และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ได้รับเฉพาะกรณีการเดินทางไปปฏิบัติงานตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเทียบตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี)
ขณะที่ ระดับอนุกรรมการ บุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเทียบตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง
สำหรับ กำหนดอัตราค่าเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่น ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 25 สิงหาคม 2562)
ในส่วนของการประชุมที่ผ่านมาตั้งแต่กฎหมายมีผลใช้บังคับ มีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการ มาแล้วจำนวน 32 คณะ โดยมีการประชุมรวมทั้งหมดจำนวน 2,013 ครั้ง