xs
xsm
sm
md
lg

'ธวเดช' กังวล ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง แนะ ศบค.อย่าเพิ่งยกเลิกประกาศวิกฤตฉุกเฉินกรณีโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (17 ก.พ.)นายธวเดช ภาจิตรภิรมย์ หัวหน้าพรรคแนวทางใหม่ กล่าวว่า ภายหลังได้เห็นตัวเลขรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตนมีความกังวลเนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆเป็นหลักหมื่นต่อวัน แต่หากรวมตัวเลขผลตรวจการ ATK ของกรมควบคุมโรค จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวมต่อวันพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 28,278 ราย ขยับเข้าไปใกล้เคียงกับตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขเคยคาดการณ์ก่อนหน้าว่าในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจพุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 3 หมื่นราย

“แม้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงน้อย แต่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า โอกาสที่การส่งต่อเชื้อจากผู้ที่แข็งแรงไปยังกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงจึงเกิดขึ้นได้ เช่น เด็กๆที่ยังไม่ได้รับวัคซีน กลุ่มผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ หรือกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วก็จริง แต่โรคแทรกซ้อนอาจรุนแรงขึ้นและอันตรายถึงชีวิตหากได้รับเชื้อโอมิครอนที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ดังนั้น ในตัวเลขที่อัตราสูงขึ้นเรื่อยๆจึงมีโอกาสที่จะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นอีกใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แต่การเสียชีวิตไม่ใช่แค่ตัวเลข ต่อให้เป็นการเสียชีวิตเพียงรายเดียว หากป้องกันได้ก็ควรต้องทำ"

นายธวเดช กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์เช่นนี้คงยากที่จะไม่ให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือต้องมีมาตรการรักษาระยะห่างเท่าที่จะทำได้ กิจกรรมทางสังคมถ้างดได้หรือทำขนาดเล็กๆจะยิ่งช่วยได้มาก เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ ดังนั้นการสื่อสารของภาครัฐยังสำคัญ จึงเป็นเหตุผลว่า รัฐยังไม่ควรยกเลิกการให้บริการวิกฤติฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 หรือ ยูเซป (UCEP COVID-19) เพื่อให้ทุกคนยังตระหนักถึงความสำคัญของโรคจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัยควบคุมได้จริง

นอกจากนี้ นายธวเดช ยังกล่าวว่า การป้องกัน ตรวจบ่อย เจอเร็ว แยกตัวเร็ว ยังเป็นมาตรการสำคัญในการรับมือโอมิครอน รัฐบาลจึงควรทำมากกว่าการลดราคา ATK และค่าตรวจ RT-PCR แต่ต้องตั้งงบประมาณให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจฟรีได้ อย่างน้อยที่สุดคือ พื้นที่แออัด กลุ่มผู้มีรายได้น้อย นักเรียนนักศึกษาที่ยังต้องไปเรียนเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายทางบ้านต้องเพิ่มศูนย์พักคอยให้มากเพื่อรองรับครัวเรือนที่ไม่มีพื้นที่แยกกักตัว เพราะหากพบการติดเชื้อจุดใดจะสามารถควบคุมได้เร็วไม่เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ หรือเกิดเคสวิกฤตไปสะสมในโรงพยาบาล

"ส่วนประเด็นการคงสิทธิรักษาโควิดทุกที่ หรือ UCEP COVID ผมคิดว่ายังสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่เรากำลังเข้าใกล้จุดพีคที่อาจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละมากกว่า 30,000 ราย หากยกเลิกสิทธินี้ไป หมายความว่า เตียงของโรงพยาบาลเอกชนที่เคยใช้รองรับสถานการณ์โควิดจะหายไปด้วย ภาระจะถูกผลักกลับไปที่โรงพยาบาลรัฐ ประชาชนจะไม่กล้าไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา และโรงพยาบาลตามสิทธิอาจอยู่ไกลกว่า ผมเข้าใจว่าต่อให้ตรวจเจอเคสที่โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรับรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเสมอไป สามารถให้กลับไปรักษาที่บ้านได้หากอาการไม่หนักโดยส่งต่อเคสให้ สปสช. ดูแลตามระบบแบบ HI ได้ แต่โรงพยาบาลต้องรอเบิกจ่ายงบค่าตรวจต่างๆ จึงอาจเป็นเหตุให้เอกชนไม่อยากรับภาระตรงนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการและการสร้างความมั่นใจที่รัฐต้องแก้ หากปัญหาอยู่ที่งบ สปสช.อาจไม่พอจนต้องจ่ายอย่างรัดเข็มขัดก็เติมให้เขา จะไปขอสภาโอนงบที่ยังไม่จำเป็นของกลาโหมหรือหน่วยงานต่างมาก่อนเหมือนที่เคยออก พ.ร.บ.โอนงบก็ได้ แต่จะใช้สถานการณ์ความไม่พร้อมทางการเงินของรัฐมาบริหารสถานการณ์วิกฤตไม่ได้ ต้องบริหารจากสถานการณ์ของโรค โรงพยาบาลเอกชนมีเตียงที่สามารถรองรับโควิดได้อีกราว 30,000 เตียง ไม่ว่าอย่างไรต้องเตรียมไว้ร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐเพื่อรับมือกรณีวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ ต้องช่วยประชาชนให้เต็มที่ก่อนช่วยเอกชน"นายธวเดช ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น