xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ชี้ขาดพฤษภาฯ ยุบสภา-ปรับ ครม.!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา

หลายคนที่เป็นคอการเมืองย่อมมองออกว่า การเคลื่อนไหวในสภาและนอกสภา รวมไปถึงในคณะรัฐมนตรีเวลานี้เป็นเพียงการ “ต่อรอง” และลีลาทางการเมือง เป็น “เกม” ที่บางฝ่ายนำมาเล่นเพื่อหวังเรตติ้ง เรียกร้องความสนใจ แม้ว่าบางอย่างอาจมีความเสี่ยงกับ “กระแสตีกลับ”

เหมือนกับเกมป่วนองค์ประชุม ทำให้ “สภาล่ม” ที่เวลานี้ชาวบ้านกำลังรุมด่า ส.ส.โดยเฉพาะพวกฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทยที่ถูกด่าในแบบ “ไม่รับผิดชอบ ไม่มีจิตสำนึก” ของการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร ทำงานไม่คุ้มเงินเดือนและภาษี สวนทางกับความภาคภูมิใจของแกนนำพรรคที่ประกาศก่อนหน้านี้ ว่า ต้องการ “ล้ม” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เพราะการอยู่ในห้องประชุมสภา แต่ไม่ยอมทำหน้าที่แสดงตน ทำให้องค์ประชุมมีปัญหา ทำให้การพิจารณาในกฎหมายหลายฉบับต้องล่าช้า ซึ่งเหตุสภาล่มซ้ำซากแค่สัปดาห์เดียว ล่มสองสามครั้ง มันถือว่า “เกินงาม” และอย่าได้แปลกใจที่กระแสสังคมกำลังรุมตำหนิอย่างหนัก

อีกทั้งยังมีคำถามตามมาอีกว่า “หากยุบสภา” เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ ส.ส.พวกนี้จะชอบใจจริงหรือ พรรคตัวเองมีความพร้อมที่จะลงสนามเลือกตั้งในสภาพแบบนี้แล้วจริงหรือ เพราะนอกเหนือจากปัญหาเรื่องการเลือกตั้งในช่วงที่กฎหมายลูก ทั้งกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการ “นับคะแนน” ยังไม่เสร็จสิ้น

แม้ว่าปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนมาใช้วิธีเลือกตั้งแบบ “บัตรสองใบ” แล้วก็ตาม แต่กฎหมายลูกดังกล่าวที่มีความสำคัญจะต้องคลอดออกมารองรับ มันยังไม่เสร็จ ต้องใช้เวลา แม้ว่าจะเร่งกันสุดขีดกันแล้วก็ต้องรอไปราวเดือนกรกฎาคมโน่น และเวลานี้ก็ยังเพียงแค่รอเข้าสภาพิจารณาในวาระแรก ซึ่งอาจมีการต้องเปิดสภาวิสามัญ เพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากสภาสมัยสามัญกำลังจะปิดลงในปลายเดือนนี้

ดังนั้น หากมีการกดดันมากๆ เกิด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิด “ฟิวส์ขาด” ยุบสภาให้รู้แล้วรู้รอดจริงๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องเกิดปัญหาวุ่นวายตามมามากมาย แต่เชื่อว่ามันก็ย่อมมีทางออกทางกฎหมายจนได้แหละ แต่ในเมื่อเกิดการ “ท้าทายให้ยุบสภา” ทั้งที่ยังรู้ว่ามีปัญหา แต่เมื่อยังป่วนไม่หยุดแบบนี้ บางทีมันก็ถึงเวลาต้อง “จัดให้” เหมือนกัน และเมื่อพิจารณาในมุมของสังคมเวลานี้เริ่ม “เบื่อหน่ายรำคาญ” กับบรรดา “นักการเมือง” เต็มที มันก็เป็นตัวเร่งให้อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และความเป็นจริงตามสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังเชื่อว่า การยุบสภาหากจะมีก็คงไม่น่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนนี้ หรือเดือนหน้า เพราะสถานการณ์ยังถือว่าไม่ถึงขั้นวิกฤต ยังพอมีเวลาได้หายใจหายคอ เนื่องจากอีกไม่กี่วันก็จะมีการปิดสมัยประชุมสภาสามัญ

แม้ว่าจะมีการเปิด “ซักฟอก” ในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ นี้ก็ตาม ก็คงไม่มีผลสะเทือนอะไรต่อรัฐบาล เพราะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แบบไม่ลงมติ อย่างมากที่สุดที่ฝ่ายค้านทำได้ ก็คือ “ด่าๆๆ” อย่างเดียว ไม่ได้ต่างจากการอ่านข่าวออนไลน์ หรือคำโพสต์ในโซเชียลมาตัดแปะซ้ำ

สามารถ “ปรามาส” เอาไว้ได้ล่วงหน้าเหมือนกับทุกครั้งว่ามันต้องออกมารูปนี้ และที่ผ่านมา หากบอกว่าเป็นการด่า แต่ก็ยังเป็นการด่าแบบไม่ถึงขั้นออกไปในทาง “ไร้รสนิยม” เสียมากกว่า หยิบยกเอาเรื่องเก่าที่ชาวบ้านรับรู้อยู่แล้ว และที่สำคัญ มันก็ไม่ได้ต่างจากญัตติ หรือกระทู้ถามปากเปล่าที่เคยใช้ อีกทั้งเมื่อเป็นญัตติซักฟอกที่ไม่มีการลงมติ มันจึงไม่มีผลทำให้เกิดความตื่นเต้น ไม่มีความน่าสนใจ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึง “ของจริง” ที่น่าจะมาถึงในช่วงช่วงสภาสมัยหน้าในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปต่างหาก ที่น่าจะมีการ “ยุบสภา” อาจเป็นไปได้มากที่สุด เพราะถึงตอนนั้นหากฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าสภาเมื่อใดก็ตาม ถึงตอนนั้นนายกรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิยุบสภา แม้ว่าโดยปกติแล้ว ฝ่ายค้านจะไม่มีการยื่นซักฟอกในช่วงเดือนแรก แต่ส่วนใหญ่จะดำเนินการในช่วงปลายสมัยประชุม ราวเดือนกรกฎาคม และถือว่าว่าเป็นสมัยประชุมท้ายๆ แล้วสำหรับวาระสภาชุดนี้

แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่อาจการันตีได้ว่าฝ่ายค้านจะรอไปปลายสมัยประชุมหน้าหรือไม่ บางทีอาจเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ง่อนแง่นเต็มทีแล้ว อาจยื่นญัตติได้แต่เริ่มเปิดสมัยประชุมก็เป็นได้ เพื่อหวังว่าเสียงโหวตจะไม่ถึงครึ่ง “ถูกคว่ำ” กลางสภา แต่ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่ระบุข้างต้น เนื่องจากกฎหมายลูกสองฉบับดังกล่าวยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่เชื่อว่า ในท้ายที่สุดแล้วในทางกฎหมายก็ย่อมต้องมีทางออก เพียงแต่จะยอมรับกันได้หรือไม่

นอกเหนือจากนี้ อีกมุมหนึ่งคิดหรือว่า คนอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยอมให้ถูกต้อนเข้ามุมอับ จะไม่ชิงลงมือก่อนหรือไม่ นั่นคือ ก่อนที่มีการยื่นญัตติซักฟอกเข้าสภา ก็ชิงยุบเสียก่อน เป็นการแก้ลำ และให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกอนาคตเอาเอง

หรือไม่ก็อีกทางหนึ่ง “ยอมกลืนเลือด” ปรับคณะรัฐมนตรี ดึง ส.ส.จากพรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามา เนื่องจากยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีว่างอยู่ “สองเก้าอี้” แต่หากออกทางนี้ ก็ยังเชื่อว่า รัฐมนตรีใหม่ที่ว่านั้น คงไม่มีชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส แน่นอน และเสียงสนับสนุนก็อาจจะมาไม่ครบทั้ง 18 เสียง ก็เป็นได้

แต่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลไม่ให้ปริ่มน้ำนัก และยังสามารถลดแรงกดดันไปได้ระดับหนึ่ง และยังเป็นยื้ออายุรัฐบาลให้ลากยาวไปถึงภารกิจสำคัญถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหลังจากนั้น ก็ปล่อยฟรี อยากให้ยุบตอนไหนก็ตามสบาย

ดังนั้น หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ของจริงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ทั้งการยุบสภา หรือการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อยืดเวลารัฐบาลให้ผ่านพ้นวาระสำคัญไปจนถึงปลายปี แต่ทุกอย่างมันก็ถือว่าไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ หากมีการบีบคั้น จนไม่มีทางออก ก็อาจเกิดการยุบสภาก่อนกำหนด แต่ถึงอย่างไรก็ยังเชื่อว่า น่าจะเป็นช่วงเปิดสมัยประชุมสามัญนั่นแหละ และเชื่อว่า เวลานี้หลายคนก็คงเล็งหาทางหนีทีไล่เอาไว้แล้ว โดยเฉพาะ “ล็อกสังกัดพรรค 90 วัน” อย่าดูเบาเป็นอันขาด !!


กำลังโหลดความคิดเห็น