นายกฯ ย้ำนโยบายแก้จน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สั่งเฉพาะกลุ่ม ขับเคลื่อน 5 มิติ มั่นใจกลไกขจัดอุปสรรค-แก้ปัญหาตรงจุด
วันนี้ (10 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความลนเฟซบุ๊กส่วนตัว “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ
เมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) ได้มีการประชุม “คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษกิจพอเพียง” (คจพ.) ซึ่งเป็นภารกิจร่วมกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมได้เน้นย้ำว่าจะต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง ต้องได้รับการดูแลแบบตามติดครัวเรือนและกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ด้วย “ทีมพี่เลี้ยง” และ “เมนูแก้จน” ในลักษณะสั่งตัด (Tailor made) ที่สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละคน ไม่ใช่แบบเหมาเข่งเหมือนในอดีต เพื่อตัดวงจรการส่งต่อมรดกความยากจนข้ามรุ่น และความจนต้องหมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเรา เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์มาเป็นอันดับแรก โดยรัฐบาลได้นำระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP : Thai People Map and Analytics Platform) มาใช้เป็นฐานข้อมูลหลัก สำหรับการคัดกรองและชี้เป้าที่แม่นยำ ผ่านการเก็บข้อมูลด้วยการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน รวมทั้งข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จนได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาคนในปี 2565 จำนวน 1,025,782 คน โดยจะมีกลไกการทำงานที่เชื่อมโยงจากระดับชาติ ลงไประดับจังหวัด-อำเภอ-ตำบล-พื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทุกครัวเรือนเป้าหมาย จะต้องมี “ทีมแก้จน” เข้าไปช่วยเหลือการทำแผนครัวเรือน-แผนชีวิต อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมได้สั่งการให้ดำเนินการในระดับอำเภอให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากสามารถ “อยู่รอด” (survival) ได้อย่างเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไปสู่ความ “พอเพียง” (sufficiency) และเป็นการแก้ปัญหาที่ “ยั่งยืน” (sustainability) ภายในเดือนกันยายนปีนี้
สิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ นอกจากความต่อเนื่องและการบูรณาการกันแล้ว แนวทางการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้านี้ จะต้องดำเนินการทั้ง 5 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้แก่
(1) มิติสุขภาพ : โดยดูแลครัวเรือนเป้าหมายในทุกช่วงวัย ดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อาหารการกินที่ถูกสุขลักษณะ การใช้ยาสามัญประจำบ้าน การมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มาให้คำแนะนำ และส่งเสริมการออกกำลัง มีสถานที่ออกกำลัง-สนามเด็กเล่นประจำชุมชน
(2) มิติความเป็นอยู่ : โดยการให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีที่ดินทำกินหาเลี้ยงชีพ มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและทั่วถึง รวมทั้งให้ความรู้เรื่องสุขภาวะในชุมชน เช่น การคัดแยก-กำจัดขยะ การใช้ส้วมอย่างเหมาะสม
(3) มิติการศึกษา : จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การศึกษาวัยก่อนเรียน การศึกษานอกระบบ การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาทางเลือก และอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองและการศึกษาตลอดชีวิต
(4) มิติรายได้ : มุ่งยกระดับรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 38,000 บาท/คน/ปี โดยจัดให้มีการฝึกอาชีพ ฝึกฝีมือแรงงาน มีอาชีพเสริม เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขจัดปัญหาหนี้นอกระบบ และส่งเสริมช่องทางตลาดออนไลน์
(5) มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ : โดยกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง "ทั้งหมด" ต้องไม่ตกหล่น และเข้าถึงระบบสวัสดิการแห่งรัฐ
ความท้าทายในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนนี้ คือ การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งในอดีตอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของฐานข้อมูลที่กระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ ทำให้การดำเนินการก็ยังไม่สามารถบูรณาการกันได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่เกิด “ความพยายามร่วม” (Unity of effort) หรือการใช้งบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก แต่ในวันนี้ ผมมีความมั่นใจว่ากลไกที่เราใช้ จะขจัดสิ้นทุกอุปสรรคที่ผ่านมา และแก้ปัญหาได้ตรงจุด แม่นยำกว่าเดิม นับเป็นการ “ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน” และการให้บริการพี่น้องประชาชนของภาครัฐ ที่รัฐบาลนี้ไม่เคยลดละความพยายาม หรือหยุดพัฒนา เพราะตระหนักดีว่าพี่น้องประชาชนต่างมีความหวังและไว้วางใจให้ผมได้ทำงานเพื่อบ้านเมืองตลอดมา โดยผมตั้งใจว่าจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด เพื่อให้ประเทศชาติมีความสงบร่มเย็น และคนไทยทุกคนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นครับ