รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเทศและรายได้ครัวเรือน
วันนี้ (1 ก.พ.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเทศและรายได้ครัวเรือน ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.07 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.เงินกู้ ควบคู่ไปกับการเติบโตของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ ที่มีตัวเลขยืนยันเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆจะอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยทางสาธารณสุข รวมถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต้องอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันกำหนด ที่ระดับร้อยละ 1.0-3.0 ต่อปี
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ เป็นวันแรกที่จะกลับมาใช้การลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Test & Go ซึ่งน่าจะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น เพิ่มรายได้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับในภาพรวมทั้งปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์โควิด-19 ที่ทั่วโลกสามาถบริหารจัดการได้ดี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางจำนวน 160 ล้านคนครั้ง มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.3-1.8 ล้านล้านบาท และหากสามารถเปิดด่านค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในไตรมาสแรกนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 15 ล้านคน
มากไปกว่านั้น ในภาคการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัวถึง 17.14% สูงสุดในรอบ 11 ปี ทะลุเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสำหรับ การส่งออกปี 2565 กระทรวงตั้งเป้าไว้ที่ 3-4% หรือมีมูลค่า 2.7-2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจัยบวกที่เกิดขึ้น ประกอบกับ ประโยชน์ที่ไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ทำให้สินค้าไทยไม่ต้องเผชิญกับกำแพงภาษี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกสินค้าที่ยังเติบโตต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกษตร ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง สินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ ถุงมือยาง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร น้ำตาลทราย อาหารเลี้ยงสัตว์ สินค้าอุตสาหกรรม รถยนต์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณี คอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
ปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการขยายตัวขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานว่า จากสถานการณ์การส่งออกที่มีแนวโน้มโตต่อเนื่อง ค่าเงินบาทอ่อน และโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากนัก ส่งผลดีต่อการลงทุนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเขต EEC ยอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่เขต EEC ในปี 2564 มีจำนวนถึง 6,698 ราย ขยายตัว 9.73% โดยนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนใน EEC มากที่สุด สำหรับปี 2565 คาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่เขต EEC จะอยู่ที่ 6,500-6,800 ราย