xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพล ไม่ค่อยเชื่อมั่น รบ.แก้ของแพง ไม่เกิน 3 เดือน แบกภาระไม่ไหว จี้ พณ.แก้รัฐพูดความจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพล สำรวจยุคข้าวยากหมากแพง หมูอันดับ 1 แพงกว่าปกติ มองเกิดจากโรคระบาด ปชช.แก้ด้วยการควบคุมการใช้จ่ายประหยัด อยากให้รัฐบาลพูดความจริงไม่ปิดบัง จี้ พณ.แก้ปัญหา ไม่ค่อยเชื่อมั่นรัฐบาลในการแก้ไข ไม่เกิน 3 เดือน แบกรับภาระไม่ไหว

วันนี้ (30 ม.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี การใช้ชีวิตของคนไทยในยุคข้าวของแพง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,383 คน สำรวจระหว่างวันที่ 24-27 มกราคม 2565 พบว่า สินค้าที่พบเห็นหรือซื้อแพงกว่าปกติ อันดับ 1 คือ เนื้อหมู ร้อยละ 92.75 รองลงมาคือ ข้าวแกง กับข้าวถุง อาหารตามสั่ง ร้อยละ 72.44 สาเหตุที่ทำให้สินค้าแพง คือ เกิดโรคระบาดในสัตว์ ร้อยละ 65.02 มีการกักตุนและปั่นราคาสินค้า ร้อยละ 64.22 ประชาชนแก้ปัญหาด้วยการควบคุมการใช้จ่าย ประหยัด ร้อยละ 77.20 รองลงมาคือ ใช้สินค้าชนิดนั้นลดลง ร้อยละ 66.67 อยากให้รัฐบาลพูดความจริง ไม่ปิดบังข้อมูล ร้อยละ 58.99 ตรึงราคา ร้อยละ 58.27 หน่วยงานที่ควรเข้ามาแก้ปัญหาสินค้าแพง คือ กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 79.60 ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาสินค้าแพงของรัฐบาล ร้อยละ 47.27 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 35.42 ภาพรวมประชาชนคาดว่าจะแบกรับภาระราคาสินค้าแพงไปได้อีกประมาณไม่เกิน 3 เดือน ร้อยละ 34.93 ไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 28.53 ไม่เกิน 1 เดือน ร้อยละ 18.56 และมากกว่า 6 เดือน ร้อยละ 17.98

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุสถานการณ์สินค้าแพงกระทบกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ หรือว่างงาน กลุ่มนี้ไม่สามารถจะแบกรับภาระของแพงได้นานมากนัก เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารการกินและการเดินทาง สูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ต่อวัน ภาครัฐนอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ควรเร่งวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบเพื่อช่วยเหลือประชาชน และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลด้วย

ดร.วิทยา ศิริพันธ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรรมการบริหารหลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า ราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศ ประกอบกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยลดลง ทำให้อุปทานของเนื้อหมูลดลง ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาอาหารสูงขึ้น นอกจากนี้อุปสงค์ของน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ปัญหาเงินเฟ้อจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนกลุ่มที่รายได้น้อยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เห็นได้จากกลุ่มตัวอย่าง 53% ไม่สามารถแบกรับภาระได้เกิน 3 เดือน ดังนั้น นอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องเพิ่มการผลิต ป้องกันการกักตุนสินค้า ชะลอการส่งออกและเพิ่มการนำเข้าแล้ว ประชาชนทั่วไปอาจทำบัญชีรายจ่ายวิเคราะห์ตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เลือกอาหารที่มีโปรตีนสูงแต่ราคาไม่สูงนัก และจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยบรรเทารายได้ไม่พอรายจ่ายในช่วงนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น