รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามการศึกษาเอกชน-กศน. ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมรับฟังปัญหานำสู่การแก้ไขเชิงนโยบาย
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจติดตามการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หวังรับฟังปัญหาการเรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ และออนดีมานด์ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมเชิญชวนครู ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชน ฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่อย่างมีความสุข โดยมีนายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ กช., นางวรรณี หะยีแวอูมา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยผู้บริหารในพื้นที่ให้การต้อนรับ
- สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส
โดยจุดแรก รมช.ศึกษาธิการ พร้อมคณะ ได้พบปะผู้บริหารโรงเรียนเอกชน สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส ซึ่งได้รับการสะท้อนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน รวม 817 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนในระบบ 98 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบ 719 แห่ง มีนักเรียนกว่า 1.3 แสนคน และมีครู 9,380 คน โดยในภาคเรียนที่ 2/2564 มีสถานศึกษาที่เปิดเรียนแบบออนไซต์ 111 แห่ง ส่วนสถานศึกษาที่เหลือ เรียนในรูปแบบออนไลน์ ออนแฮนด์ และออนดีมานด์
พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการจัดการเรียนการสอนของ กศน.จังหวัดนราธิวาส ในสถาบันการศึกษาปอเนาะ 57 แห่ง ในหลักสูตรการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน โดยมีกิจกรรมสำคัญด้านส่งเสริมการอ่านภาษาไทย, 1 ปอเนาะ 1 โครงการพัฒนา ตลอดจนอบรมประวัติศาสตร์ไทย เพื่อน้อมนำพระราโชบายสู่การปฏิบัติ
- ลงพื้นที่โรงเรียนฮาซานียะห์ อำเภอยี่งอ
รมช.ศึกษาธิการ ได้รับฟังเสียงสะท้อนการจัดการศึกษาเอกชน ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการขอรับการสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity-Based Learning) และโครงการจัดค่ายโอลิมปิกวิชาการโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนใต้, การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือเทคโนโลยี ให้กับครูและสถานศึกษาเอกชนในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ, การสนับสนุนเงินอุดหนุนอาหารกลางวันโรงเรียนเอกชนในระบบ 100% ทุกโรงเรียน, เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน 100% ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน, ทบทวนสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลบุตรของครูเอกชนในระบบ, การสนับสนุบงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของครูเอกชนที่ติดโรคโควิด 19 โดยเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, ยกระดับความมั่นคงในอาชีพของครูเอกชนในจังหวัดชายแดนใต้ ที่สอนวิชาหลัก ให้เป็นพนักงานราชการ และการศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว และมีบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
"การจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้เรียนและประชาชน โดยมีความพยายามทุกทาง ที่จะทำให้การแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตน้อยที่สุด ซึ่งโรงเรียนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังจัดการเรียนในรูปแบบออนไลน์ และรูปแบบ 4 ออนตามบริบทพื้นที่ จึงได้มอบรองเลขาธิการ กช. และ สช. รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอทั้งหมด เพื่อวางแนวทางการจัดการเรียนการสอนและจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ครูโรงเรียนเอกชนเข้าไปพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณชาวนราธิวาส ที่ตระหนักถึงการเข้ารับการฉีดวัคซีน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ฝาส้ม สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ได้ส่งถึงประเทศไทยแล้ว จึงขอเชิญชวนทุกคนช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนำนักเรียนมารับวัคซีนมากขึ้น พร้อมปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลป้องกันโรคโควิด-19 สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังต่อเนื่อง" รมช.ศึกษาธิการ กล่าว