xs
xsm
sm
md
lg

25 มกราคม วัดใจ ป.ป.ส.หวงอำนาจหรือคืนกัญชาให้ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดันกันมาจนถึงโค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับพรรคภูมิใจไทย และมวลมหาประชาชนสายเขียว เรียกว่ามากันไกล จนเกินฝัน ด้วยแรงผลักดันของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่กำลังจะทำให้กัญชา จากยาเสพติด กลายเป็นพืชสมุนไพร ปลูกได้ง่ายๆ ในครัวเรือน เพื่อรักษาโรค ที่เรียกได้ว่าพิสูจน์ฝีมือของพรรคปฏิบัติการ

อันที่จริง เรื่องนี้ น่าจะจบตั้งแต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวไร้ชื่อกัญชาในฐานะยาเสพติด แต่ความพิศวง งงงวย ยังเกิดขึ้น เมื่อผู้ป่วย ที่ปลูกกัญาไว้รักษาตัวเอง ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม เพราะมีการตีความกฎหมาย โดยไปยึดเอาประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ยังระบุให้กัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ ทั้งที่ประกาศกระทรวงนั้น มีศักดิ์ชั้นต่ำกว่าประมวลกฎหมายฯ กลายเป็นเรื่องถกเถียงในแวดวงนักกฎหมาย แม้ นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา หรือ กูรูด้านนิติศาสตร์ของประเทศไทย

จะตอบคำถามให้สิ้นสงสัยว่า กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติดแล้วจริงๆ แต่เจ้าหน้าที่ ยังยืนกรานจะจับกุม อ้างประกาศเข้ารวบคนป่วยคาบ้าน กลายเป็นเรื่องดราม่าของสังคมไทย ซึ่งอันที่จริง เรื่องของกัญชานั้น ก็คือหนึ่งในส่วนผสมของยาแผนไทยสารพัดสูตร ที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่วันดี คืนดี กลับกลายป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพียงเพราะการแทรกแซงจากต่างชาติ

แน่นอน ล่าสุด พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังไล่จับผู้ป่วย สวนทางกฎหมายแม่ ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการหวงอำนาจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนไม่เห็นหัวประชาชน ทั้งที่ทราบกันดีว่า กัญชา มีสรรพคุณทางยา และเป็นทั้งทางเลือกทางรอด เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนไทย แต่ฝ่ายหนึ่งก็มักจะมองว่า กัญชามีดีแค่เรื่องสันทนาการ ซ้ำร้ายจะเป็นการมอมเมาประชาชนให้ติดยาเสพติดอีกต่างหาก

ในอีกทางหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุข กลับมองว่า กัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลได้ และเปิดคลินิกกัญชาแบบปูพรม ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ข้อมูลทางวิชาการ ยืนยันตรงกันว่า กัญชา สามารถรักษาได้สาระพัดอาการเจ็บป่วย อาทิ ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน จากกลุ่มที่ได้รับคีโม ลดอาการลมชัก ที่ดื้อต่อการรักษา ลดความวิตกกังวล ลดอาการจากโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เป็นต้น

ขณะที่ในทางวิชาการ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ภาวะติดกัญชานั้น เกิดขึ้นได้น้อยกว่าติดเหล้า และบุหรี่ โดยในบรรดาผู้ที่ใช้กัญชา ในปริมาณสูง จะมีเพียง 10% เท่านั้น ที่มีภาวะติดกัญชา นายแพทย์ธีระวัฒน์ยังเสนออีกว่า สามารถควบคุมการใช้กัญชา ได้ด้วยวิธีการ ที่เราใช้ควบคุมการบริโภคเหล้าและบุหรี่

ไม่รอช้า เมื่อเกิดปัญหาด้านกฎหมายตามที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวอ้าง นายอนุทิน หาทางแก้ไข เร่งออกประกาศของกระทรวงคุณหมอ ปลดกัญชาตามความต้องการของเจ้าหน้าที่รัฐ

ล่าสุด คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เห็นชอบร่างประกาศของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวแล้ว ตามใจฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทลายเงื่อนไข ให้ตามความต้องการ แต่ประกาศฉบับนี้ ยังต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการยาเสพติด หรือที่เรียกว่าบอร์ด ป.ป.ส.

โดยประกาศฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการคลายล็อกกัญชาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์  จะทำให้กัญชา กลายเป็นพืชสมุนไพร ปลูกได้ตามบ้าน เพียงแต่ต้องขอจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งสะดวกกว่าการขอแบบเดิม ที่ต้องรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน และต้องทำสัญญาร่วมกับสภานพยาบาล กัญชา จะได้กลายเป็นพืชครัวเรือน ที่คนไทยเข้าถึงได้โดยง่าย แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ด ป.ป.ส. ที่นายอนุทิน ออกมาสะกิดว่า

“วันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนของคณะกรรมการ ป.ป.ส.ที่จะต้องให้การรับรองร่างฯ ระบุชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ฉบับใหม่นี้ ซึ่งทำมาให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564 ไม่มีคำว่ากัญชาอยู่ ทั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ประโยชน์ของบ้านเมือง กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่จะมาเป็นพืชเศรษฐกิจอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนคนไทย สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด”

โดย บอร์ด ป.ป.ส.จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ ในวันที่ 25 มกราคม ปีพุทธศักราช 2565 นี้

เพื่อรักษาอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือจะคืนกัญชา แก่ประชาชน  ให้เป็นยาแก้เจ็บ ยาแก้จน

คนไทยทั้งประเทศ กำลังจับตาอยู่




กำลังโหลดความคิดเห็น