xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เปิดเมกะโปรเจกต์ปี 65 กว่า 1.4 ล้าน ลบ.เดินหน้า MR-MAP Land Bridge คาดเกิดผลประโยชน์ทาง ศก.4 แสนล้าน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ “ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม เดินหน้าลุย 4 มิติ หวังดันโครงการลงทุน สร้างผลประโยชน์ทาง ศก.กว่า 4 แสนล้านต่อปี พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

วันนี้ (20 ม.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม” ณ ห้องอีเทอร์นิตี้ บอลรูม ชั้น G โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

โดยระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนการพัฒนาระบบขนส่งของไทยในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมีรายได้สูงอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนไทยมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม กระทรวงคมนาคม ถือเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่กระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะงักการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศแต่อย่างใด โดยได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกันทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศและเชื่อมต่อไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งโครงการต่าง ๆ มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นแผนระยะกลางและแผนระยะยาว ดังนี้

1. การคมนาคมขนส่งทางบก ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สายทาง คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 81,121 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96.0 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 62,452 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 28,734 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ยกระดับ) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย และช่วงที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว คาดว่าทั้ง 2 ช่วงจะแล้วเสร็จในปี 2567 และ 4) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สายทาง คือ M5 ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง และ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา

2. การคมนาคมขนส่งทางราง ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะมีระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร 2) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการขนส่งระบบระบบรถไฟทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเชื่อมโยงทั่วทุกภูมิภาคและรองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย 3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งในปีนี้ได้เร่งดำเนินการ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร และ 4) โครงการถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571

3. การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้แก่ 1) โครงการท่าเรือบก (Dry Port) จะเป็นศูนย์กลางในการ
ขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งต่อไปทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา ซึ่งตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกได้กำหนดพื้นที่ไว้ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา

4. การคมนาคมขนส่งทางอากาศ ด้วยประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประมาณการนักท่องเที่ยวที่จะเข้าสู่ประเทศไทยว่าจะมีจำนวนสูงถึง 200 ล้านคน ในปี 2574 กระทรวงคมนาคมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยายต่างๆ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายนนี้ 2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ขณะนี้กำลังเร่งรัดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ 4) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการประเมิน EIA เช่นกัน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมจะเดินหน้าโครงการในครึ่งปีหลังของปีนี้ ได้แก่ 1) การศึกษาจัดทำแผนแม่บท MR-Map เป็นแผนการพัฒนาระบบคมนาคมในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ และกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น โดยรูปแบบ MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ตามแผนประกอบด้วย 10 เส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงข่ายการค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และ 2) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งโครงการ Land Bridge ชุมพร-ระนอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการลงทุนโครงการ และเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2566 ตามแผนจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 2568 พร้อมเปิดโครงการได้ในช่วงปี 2573

ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่างๆ ที่กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมดแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับนานาประเทศได้ และประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์จากแผนการการลงทุนด้านคมนาคม สามารถแบ่งการพิจารณาได้เป็น 4 มิติ ดังนี้
1. มิติด้านความสะดวก เพิ่มความเร็วในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วง รถติดเป็น 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
2. มิติด้านเวลา โครงการรถไฟทางคู่แก้ปัญหารถไฟรอหลีกและจุดตัดถนน ทำให้ความเร็วในการขนส่งสินค้าเพิ่มจาก 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3. มิติด้านราคา โครงการรถไฟทางคู่สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 4 เท่าตัว โครงการท่าเรือแหลมฉบัง การขนส่งทางน้ำลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 8 เท่าตัว
4. มิติด้านความปลอดภัย แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการ RFB ซึ่งใช้ยางพาราหุ้มแท่งคอนกรีตจะสามารถลดความเสียหายและแก้ปัญหาการชนต่างทิศทางบนถนนที่เป็นเกาะสี โครงการ Motorway ซึ่งเป็นระบบปิดและไม่อนุญาตให้รถมอเตอร์ไซค์มาใช้งาน จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุจากรถ ที่ใช้ความเร็วต่างกันได้ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จะช่วยลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟสามารถรองรับการเดินทางของคนได้มากกว่าและโอกาสการเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะช่วยลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนน และโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางทางอากาศเป็นศูนย์

นอกจากประชาชนจะได้ประโยชน์จากแผนลงทุนด้านคมนาคมแล้ว ในส่วนภาพรวมของประเทศ จะได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนด้านคมนาคมเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจจากเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางบก ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ด้วยวงเงินการลงทุนที่สูงนี้ มีการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิด การจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง และมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักร และยานพาหนะะต่างๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท และจากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณที่เป็นผลมาจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 2.35% ของ GDP

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละโครงการตนกับบุคลากรทุกคน ในกระทรวงคมนาคมได้ร่วมวางแผนการดำเนินงานเป็น Action Plan ไว้แล้ว ซึ่งต่อจากนี้ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แผนในการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด อย่างไรก็ตามแผนการลงทุนโครงสร้าง เพื่อวางโครงข่ายคมนาคมของประเทศทั้งระบบนั้น กระทรวงคมนาคมได้วางไว้เป็นแผนกลยุทธ์ 20 ปี และเมื่อนำมาต่อเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามแนวทางของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากทั้งหมดเกิดขึ้นได้ครบวงจร เราจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากวันนี้อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น